กรกฎาคม 8, 2025
ticycity.com
Movement Voice

‘ว่าวบูรงนิบง’ ซอฟต์พาวเวอร์ทางวัฒนธรรม สู่ ‘งานวิจัยขายได้’

ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ‘ว่าวบูรงนิบง’ นำเสนอ ‘งานวิจัยขายได้’ ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568

สืบเนื่องจากงาน เทศกาลว่าวนานาชาติ จัดเมื่อเดือนเมษายน 2568 ที่จังหวัดยะลา ผศ.นูรีดา จะปะกียา หัวหน้าโครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรม สู่เทศกาลวัฒนธรรมจังหวัดยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยร่วมกับทีมงานทำโครงการวิจัยชื่อ การจัดการทุนทางพหุวัฒนธรรม ว่าวบูรงนิบง สู่งานมหกรรมการแข่งขันว่าวนานาชาติ

เราตั้งวัตถุประสงค์ว่าจะค้นคืนวัฒนธรรมว่าวที่มีในพื้นที่และกำลังจะสูญหาย เพื่อสร้างความเชื่อมโยงสู่การแข่งขันว่าวนานาชาติ และสร้างกลไกจากฐานคุณค่าว่าว เพื่อธำรงวัฒนธรรมทั้งไทยพุทธ ไทยมลายู

อีกทั้งมองว่าเป็น งานวิจัยขายได้ เกิดประโยชน์ในชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้”

บูรง แปลว่า นก นิบงหมายถึงจังหวัดยะลา อาจารย์นูรีดา มุ่งมั่นสร้างงานวิจัยเพื่อเป็นซอฟต์พาวเวอร์สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่างเป็นรูปธรรม

“ทุนทางวัฒนธรรมเป็นโจทย์ที่นักวิจัยจะต้องค้นหาต้นทุนที่อยู่ในพื้นที่ อย่างที่ทุกคนทราบว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา มีพหุวัฒนธรรม ไทย มุสลิม ที่อยู่ด้วยกัน แต่จะอยู่ร่วมกันอย่างไรโดยผ่านความเป็นวัฒนธรรมร่วม 

เรามีภาคีเครือข่ายทำงานในพื้นที่ งานวิจัยที่ผ่านมาเป็นเรื่องการเกษตร การแพทย์ แต่เรามองข้ามสิ่งสำคัญอีกอย่างไม่ได้คือเรื่องของ ปราชญ์ท้องถิ่น ซึ่งถ้าคนรุ่นเราไม่รักษาไว้ ปราชญ์ก็จะสูญหาย จะไม่มีการสืบทอดสู่คนรุ่นหลัง ดังนั้นเยาวชนต้องสืบสาน มีผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมให้ต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้ได้ มีศิลปินในพื้นที่ มีการแสดง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ร่วมกัน และต้องเข้าสู่สถานศึกษาให้ได้”

จากความสำเร็จของงานเทศกาลว่าวนานาชาติ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นักวิจัยเผยว่า

“เป็นครั้งแรกที่ ว่าวเบอร์อามัส ที่เคยสูญหายไปในพื้นที่ก่อนหน้านี้กลับมาอีกครั้ง เบอร์อามัส เดิมมาจากศาสนาพราหมณ์ พออิสลามเข้ามาตัวว่าวถูกลดทอนลงไป พอจัดงานว่าวนานาชาติก็มีถึง 56 ทีม ส่งว่าวเข้ามาแข่งขัน ทั้งหมด 1,333 ตัว จากงานครั้งนั้นทำให้หลายคนมาขอบคุณนักวิจัยที่ทำให้ว่าวของเขาได้กลับสู่ท้องฟ้าอีกครั้ง รัฐกลันตันของมาเลเซียก็ส่งว่าวตัวใหญ่มามอบให้เรา”

ผศ.นูรีดา เล่าถึงความเป็นมาของ ว่าวเบอร์อามัส ที่รู้จักกันในนาม ว่าวทองแห่งมลายู ว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมายาวนาน บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของคนเชื้อสายมลายูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าวเบอร์อามัสถูกเรียกขานด้วยว่าเป็นว่าวทองหรือว่าวเทวดา ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มีลักษณะคล้ายกับรูปของเทวดาที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างเต็มยศ เป็นว่าวที่มีที่มาจากคติความเชื่อของฮินดู-พราหมณ์ ถือเป็นตัวแทนบุญญาธิการของเทวดาที่แสดงถึงอำนาจและอิทธิฤทธิ์ที่สามารถบันดาลสิ่งต่าง ๆ ให้กับมนุษย์ได้ แม้กระทั่งความเจ็บป่วยที่มนุษย์ต้องประสบ เช่น ในอดีตมีการนำว่าวเบอร์อามัสมาวางทาบบนหลังผู้ป่วย เพื่อนำพาความชั่วร้ายออกไปจากร่างของผู้เจ็บป่วย

อาจารย์ศฤงคาร กิติวินิต หนึ่งในทีมวิจัย เสริมว่า

เบอร์อามัส เป็นที่มาของ ว่าวบูรงนิบง นำเสนอในรูปแบบใหม่ เบอร์อามัส มีลักษณะรูปทรงเหมือนปีก ของดั้งเดิมรูปร่างเหมือนคน มีแขนขา พอเป็นว่าวบูรงนิบง เราใช้การสืบค้นข้อมูล รวมถึงถามความคิดเห็นจากผู้รู้ ออกมาเป็นเป็นว่าวบูรงนิบง 2 รูปแบบ

คือแบบ เทรดิชั่นแนล หรือประเพณีนิยม นำอัตลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมที่อยู่ในว่าวเบอร์อามัสมาถ่ายทอดลงว่าวตัวนี้ มีลวดลายสวยงาม อลังการ แสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดยะลา ผ่านการสืบค้นมาแล้วว่า ยะลามีความโดดเด่นด้าน ผังเมือง ที่สวยที่สุดติดอันดับ 23 ของโลก เรานำโครงสร้างของผังเมืองมาเป็นโครงสร้างของตัวว่าว 

ตกแต่งลวดลายเช่น ดอกพิกุล เป็นดอกไม้ประจำยะลา อยู่ตรงกลาง และตรงลายเส้นที่ประสานกัน ยังมี ลายช่องลม และ นกเขาชวา เป็นนกที่มีชื่อเสียงของยะลาที่ได้ชื่อว่า Bird City และมีลวดลายของ “แห” ที่เป็นตารางในตัวว่าว

อีกรูปแบบเรียกว่า แฟนซี เวอร์ชั่น จากว่าวที่ดูเป็นแบบประเพณีนิยม วัยรุ่นอาจมองว่าโบราณไป หรืออาร์ตมากไป แฟนซีจะเป็นส่วนเชื่อมโยงยุคสมัย ทำให้คนรุ่นใหม่ยอมรับและสืบทอด ดูทันสมัยและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น แต่ยังรูปแบบของนกเหมือนเดิม แต่มีลีลาและลวดลายที่ดูไม่เชย

อีกอย่างจะผลิตโดยใช้เทคโนโลยีผสมผสานด้วย เช่น พริ้นท์ลงบนผืนผ้าและผ้าใบ ทำให้ว่าวแบบประเพณีนิยมราคาถูกลง วัยรุ่นจับต้องได้”

นอกจากนี้ยังนำรูปแบบของว่าวออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น แก้วน้ำ หมวก กระเป๋า ผ้าพันคอ ราคาจับต้องได้ รายได้เป็นของผู้ประกอบการ นำไปสู่งานวิจัยขายได้จริง ผศ.นูรีดา เสริมว่า

“งานวิจัยยุคใหม่ไม่เป็นแค่การทดลองหรือการแสดง เราคิดไปถึงว่าทำอย่างไรให้ชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ เรานำช่างคนเดียวจากชายแดนใต้ที่สามารถแกะว่าวบูรงนิบงได้นำมาแสดง ข่าวดีปีหน้า สมาคมว่าวจากประเทศอิตาลีติดต่อให้เราไปออกงานที่อิตาลี ที่จีนก็ติดต่อมาอยากให้ว่าวของเราไปจัดแสดงในมิวเซียมของจีน และตอนนี้เราจดสิทธิบัตรว่าวบูรงนิบงแล้ว

เรื่องสำคัญในงานวิจัยอีกอย่างคือ มิติด้านการศึกษา งานวิจัยจะไม่สำเร็จถ้าไม่มีเยาวชนเข้ามา เรานำเยาวชน นักเรียนมัธยมและประถมมาเรียนรู้ประวัติของว่าว และให้นักเรียนแสดง สร้างหลักสูตรให้เยาวชนเรียนรู้ และสร้างรายได้ให้กลุ่มเปราะบาง ปีหน้ามีโครงการเผยแพร่สู่จังหวัดสงขลา ให้เป็นงานวิจัยที่สามารถต่อยอดรายได้”

#มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ #ว่าวบูรงนิบง #มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา #นักวิจัย #งานวิจัยขายได้ #ว่าวเบอร์อามัส #ticy city

Leave feedback about this

  • Rating

Culture, God's City

“เจ

Fashion, Trends

TaylorMad

Health, Trends

‘ไข้เลือด

PR news, TICY PR

เริ่มแล้ว

Movement, Voice

“โกโกวายั

Destination, Food

Chocolate