พฤศจิกายน 15, 2024
ticycity.com
Movement Voice

ศตวรรษเมือง (Urbanization) ยุคที่การเข้าใจ “เมือง” เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ผังเมือง

ว่ากันด้วยเรื่องของเมืองต่างๆ ที่กำลังประสบปัญหาทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติ และภัยจากน้ำมือคน ซึ่ง Ticy City เชื่อว่าหลายคนคงมองข้ามเรื่อง “ผังเมือง” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาเมืองพัฒนาพื้นที่ แต่กลับกลายเป็นเรื่องนอกสายตา เพราะผู้คนส่วนใหญ่มองแค่เรื่องความเจริญ ความสะดวกสบายที่จะได้รับต่อเมืองที่ตนได้อาศัยอยู่ 

ซึ่งที่จริงแล้ว “ผังเมือง” เป็นดังเข็มทิศต่อการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย ทั้งยังเป็นการสร้าง “โอกาส” ให้กับผู้คนที่อาศัยในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

แน่นอนว่าการสร้างความเข้าใจต่อผังเมืองนั้นอาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับผู้คนทั่วไปที่อยู่นอกสายวิชาชีพ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ เพราะ Ticy City ได้มีโอกาสสนทนากับคุณปรีชญา นวราช สถาปนิกผังเมือง และกรรมการผู้จัดการบริษัท พี-เนอ เออเบิ้น อาร์คิเต็ค จำกัด ถึง7 ความเข้าใจสำคัญที่ช่วยให้การออกแบบโครงการสถาปัตยกรรมผังเมืองประสบผลสำเร็จ เลยขอหยิบยกบทความ “ศตวรรษเมือง (Urbanization) ยุคที่การเข้าใจ “เมือง” เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”  ให้ได้อ่านกันเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างโอกาสที่ดี และลดความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตในเมือง

การเข้าใจ “เมือง” เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในยุคที่ประชากรมากกว่า 56% ทั่วโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง  ซึ่งเมืองเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่ไม่ได้รองรับความต้องการของผู้อยู่อาศัยเฉพาะครัวเรือนใดครัวเรือนหนึ่ง และต้องตอบสนองความหลากหลายของกลุ่มผู้คนที่หอบหิ้วความหวังเข้ามากระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการแสวงหาโอกาส

ปัจจุบัน โครงการสถาปัตยกรรมผังเมืองไม่ได้จำกัดอยู่แค่โครงการขนาดใหญ่อย่างที่คุ้นเคยในชื่อ “เมกะโปรเจค” หรือ “โครงการเมืองใหม่” ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายทุนใหญ่ต้นทุนหนาอีกต่อไป แต่ยังหมายรวมถึงโครงการทุกระดับ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ตราบใดที่โครงการเหล่านั้นสามารถสร้างอานุภาพและผลกระทบต่อเมืองในวงกว้าง 

ด้วยความซับซ้อนที่เกิดขึ้นทั้งจากมิติด้านการออกแบบและการใช้พื้นที่ รวมถึงการพิจารณาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การออกแบบวางผังสถาปัตยกรรมผังเมืองในยุคนี้ จึงต้องอาศัยการบูรณาการความรู้จากหลายศาสตร์ (Interdisciplinary) เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สมดุลที่สุด ลดผลกระทบทางลบ และเสริมสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนให้กับสังคมและเมืองในทุกมิติ

บทความนี้จะขยายความเกี่ยวกับ 7 ความเข้าใจสำคัญที่ช่วยให้การออกแบบโครงการสถาปัตยกรรมผังเมืองประสบผลสำเร็จ

1. เข้าใจบริบทพื้นที่ (Urban Context)

การวิเคราะห์บริบทพื้นที่ (Site analysis) เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการออกแบบโครงการ ช่วยให้สามารถระบุจุดแข็งและจุดอ่อนของพื้นที่นั้น เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาแนวคิด และกลยุทธ์การพัฒนาโครงการที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ รวมถึงการพิจารณาแนวโน้มและทิศทางการเจริญเติบโตของเมืองที่ได้รับผลกระทบจากแผนการพัฒนาของทางภาครัฐและเอกชน ตัวอย่างเช่น ระบบคมนาคมขนส่งที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงและเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น อย่างที่เรียกได้ว่า ขยายไปทางไหน ก็เพิ่มโอกาสไปทางนั้น

นอกจากนี้ การเข้าใจต่ออัตลักษณ์ของพื้นที่ (Place identity) ทั้งในแง่มุมของมรดกวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ของโครงการที่แสดงออกถึงความเคารพต่อจิตวิญญาณของพื้นที่ แต่ยังถือเป็นความชาญฉลาดในการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมต่อพื้นที่นั้นๆ มาสร้างความแตกต่างของตัวตน (Characteristic) ในการออกแบบทิศทางโครงการได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

2. เข้าใจกฎหมาย (Urban Law and Policy)

จากกรณีข้อพิพาทที่ปรากฏตามหน้าข่าวเกี่ยวกับการก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่ขัดกับกฎหมายของเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อกำหนดทางกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับต้นของการวางแผนโครงการ การเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายไม่เพียงแต่ช่วยให้กระบวนการขออนุญาตก่อสร้างเป็นไปอย่างถูกต้อง แต่ปัจจุบันเครื่องมือทางกฎหมายยังสร้างมาตรการจูงใจ (Incentive) ให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการสร้างโครงการให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น การกระตุ้นจูงใจให้เอกชนสร้างพื้นที่กึ่งสารธารณะ พื้นที่รับน้ำ หรืออาคารจอดรถสาธารณะใกล้สถานีรถไฟ แลกเปลี่ยนกับการที่ภาครัฐให้โบนัสในการสร้างตึกสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ กฎหมายยังเป็นเสมือนคู่มือในการคาดการณ์ (Foresight) บทบาทของพื้นที่ในอนาคต โดยมีเครื่องมือผังเมืองรวมและแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ผังสี” ที่ช่วยกำหนดศักยภาพสูงสุดของการพัฒนาพื้นที่สำหรับการก่อสร้าง ทั้งในด้านการจัดสรรประโยชน์ใช้สอยตามความคุ้มค่าของที่ดิน ตลอดจนด้านการวางแผนการพัฒนาโครงการใช้สอยสอดรับกับแนวโน้มต่อการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ อันนำมาซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับโครงการในอนาคต

3. เข้าใจคน (People)

เมือง เต็มไปด้วยกลุ่มคนต่างภูมิหลัง ต่างวัตถุประสงค์ และต่างความต้องการ สร้างความซับซ้อนในการดำเนินโครงการสถาปัตยกรรมผังเมืองมิใช่น้อย แน่นอนว่าในโลกของความเป็นจริง โครงการใดโครงการหนึ่งอาจไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของทุกกลุ่มคนได้ แต่การพัฒนาโครงการสถาปัตยกรรมผังเมืองที่คำนึงถึงความหลากหลาย (Diversity) จะเป็นการลดช่องว่างและแรงเสียดทานระหว่างกลุ่มคน ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการประเภท ล้อมรั้ว บ้านใหญ่ กำแพงสูง (Gated Community) ซึ่งส่งผลให้เกิดการแยกตัวและความแตกต่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างกลุ่มคนในเมือง

กลไกในการขับเคลื่อนโครงการที่มีอิทธิพลต่อเมืองในปัจจุบัน จึงหันมาให้ความสำคัญกับ “คน” โดยการสร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วม (Sense of belonging) ช่วยให้เกิดการประนีประนอม และส่งเสริมให้ทุกกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและความเข้าใจซึ่งกันและกัน 

4. เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental)

ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้นทำให้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามีสาเหตุหลักมาจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม และส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการพัฒนาของเมืองที่ขาดทิศทางและการวางแผนที่รอบคอบ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวงการสถาปัตยกรรมมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้กลายมาเป็นเป้าหมายหลักของการออกแบบ ตั้งแต่การวางผังที่เคารพต่อระบบนิเวศและไม่ขัดต่อทิศทางของธรรมชาติ ไปจนถึงการชดเชยการสูญเสียพื้นที่สีเขียวจากการขยายตัวของเมือง 

นอกจากนี้ การเลือกใช้พลังงานทางเลือกและวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งประเทศสิงคโปร์เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยมีแนวคิดการออกแบบที่มุ่งสร้างความกลมกลืนระหว่างเมืองกับธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นในเมือง แต่ในทางกลับกัน คือสร้างเมืองให้หลอมรวมอยู่ภายใต้ธรรมชาติ ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อน (Carrot and Stick) ล้วนเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยนำพาเมืองไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

5. เข้าใจข้อมูล (Data-based)

การออกแบบสถาปัตยกรรมผังเมืองที่มีประสิทธิภาพไม่สามารถอาศัยแค่จินตนาการของสถาปนิกที่เขียดขีดขึ้นมาเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องมีการอ้างอิงจากข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้การตัดสินใจมีความแม่นยำและประสิทธิผลมากขึ้น การใช้ข้อมูลเป็นฐานในการออกแบบช่วยให้นักออกแบบสามารถเข้าใจปัญหาและศักยภาพของพื้นที่อย่างถ่องแท้ 

นอกจากนี้ ข้อมูลยังช่วยคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่อาจไม่ได้ปรากฏชัดจากข่าวสารทั่วไป แต่ต้องอาศัยการวิเคราะห์เชิงสถิติและข้อมูลดิบซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจด้านการออกแบบและการลงทุนอย่างมีหลักการ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ที่การเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) กลายเป็นทรัพยากรสำคัญซึ่งช่วยให้เกิดการรับรู้สถานการณ์ได้อย่างกว้างขวาง หลายเมืองได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการรวบรวมและจัดการข้อมูล พร้อมทั้งได้สร้างแพลตฟอร์มเพื่อแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง การใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวไม่เพียงช่วยในการประเมินและติดตามความก้าวหน้าของโครงการในระยะยาว แต่ยังส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน นับเป็นการสร้างความรู้สึกถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการพัฒนาเมือง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเมืองที่เติบโตอย่างยั่งยืนจากความร่วมมือที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่เชื่อถือได้

6. เข้าใจแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลง (Trends)

โครงการสถาปัตยกรรมผังเมืองเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและใช้เวลาในการพัฒนาที่ยาวนานหลายปี ดังนั้นการออกแบบที่คำนึงเพียงความต้องการในปัจจุบันนั้นอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต ดังนั้นการออกแบบที่ดีจึงต้องคำนึงถึงความต้องการ พฤติกรรม และลักษณะวิถีของการดำเนินชีวิตในอนาคตด้วย เพื่อให้โครงการสามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นการออกแบบที่ยืดหยุ่นและสร้างทางเลือกในการพัฒนาเมืองที่รองรับการเปลี่ยนแปลงนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้วิธีการที่ใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในอนาคตก็คือแบ่งช่วงเวลาการพัฒนาออกเป็นระยะ ซึ่งช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามแนวโน้มที่เกิดขึ้น โดยสถาปนิกสามารถเสนอทางเลือกในการออกแบบที่สอดคล้องกับแนวโน้มเหล่านั้นๆ  โดยวิธีการนี้ไม่เพียงช่วยให้โครงการมีความยืดหยุ่นในการลงทุน แต่ยังทำให้สามารถปรับตัวตามสถานการณ์เมืองที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. เข้าใจตัวตน (Positioning)

การเข้าใจจุดยืนและความต้องการของตนเองเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบสถาปัตยกรรมผังเมืองที่มีคุณภาพ การออกแบบที่ดีไม่ได้สนับสนุนแต่การโอนอ่อน ผ่อนตาม และหลอมละลายสถาปัตยกรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในทางตรงกันข้ามการออกแบบที่ดีต้องสามารถสร้างความท้าทายต่อบริบทของเมืองนั้นได้อย่างสมดุลและมีสัมมาคารวะ ไม่ล้ำเส้นหรือสร้างผลกระทบเชิงลบให้กับเมือง 

ทั้งนี้ขอยกหนึ่งตัวอย่างที่คลาสสิกและเห็นภาพได้ชัดนั่นคือ หอไอเฟล (Eiffle Tower) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มต้นด้วยการท้าทายต่อความแตกต่าง แต่ปัจจุบันกลับพลิกความแตกต่างสู่ความเป็นเอกลักษณ์และภาพจำให้กับเมืองปารีส กลายเป็นพื้นที่ (Landmark) สำคัญที่มีบทบาทในการสร้างแบรนด์ให้กับเมือง (City branding) ซึ่งกรณีศึกษานี้ สะท้อนให้เห็นถึงพลังของการออกแบบสถาปัตยกรรมมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์และการพัฒนาเมืองได้เป็นอย่างดี

และท้ายที่สุด แม้ว่าผู้เขียนจะนำเสนอ 7 ความเข้าใจพื้นฐานในการออกแบบสถาปัตยกรรมผังเมือง แต่ในความเป็นจริงด้วยธรรมชาติของเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น จึงอาจไม่มีแนวทางใดที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ (One size doesn’t fit all) ดังนั้นการออกแบบที่ดีควรต้องเผื่อพื้นที่ให้กับความยืดหยุ่น (Flexibility) เพื่อให้สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อการพัฒนาในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งสำคัญที่สุดเมื่อ “เมือง” คือ “พื้นที่แห่งโอกาส” การออกแบบผังเมืองจึงควรเกิดจากความร่วมมือและความเข้าใจของทุกภาคส่วน เพื่อให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสามารถตอบสนองทุกคนได้อย่างเท่าเทียม 

ในสถานะสถาปนิกผังเมือง ผู้เขียนก็หวังว่า “งานสถาปัตยกรรมผังเมือง” จะเป็นกุญแจสำคัญในการเปิด “โอกาส” เหล่านั้นให้เข้าถึงได้สำหรับทุกคนในเมือง

อ้างอิง

https://www.worldbank.org

https://www.arup.com/insights/cities-alive

https://www.ura.gov.sg

www.thehighline.org

เรื่อง : ปรีชญา นวราช

สถาปนิกผังเมือง  และกรรมการผู้จัดการบริษัท พี-เนอ เออเบิ้น อาร์คิเต็ค จำกัด

ภาพ :  adobe firefly

Leave feedback about this

  • Rating

Movement, Voice

‘ลอยกระทง

Destination, Food

ร้านโนบุท

Art & Event, Culture

Awakening

Movement, Voice

‘โครงการห

Culture, God's City

ไหว้เทพอง

PR news, TICY PR

เช็คอินมื

X