เมื่อเศรษฐกิจไทย ต้องการมากกว่าการ ‘ทำงานหนักเพื่ออยู่รอด’…
ในโลกแห่งการทำงาน ดูเหมือนว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ‘Work-Life Balance’ หรือสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน จะเป็นสิ่งที่ไม่เคยหาจุดลงตัวที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับร่วมกัน หรือแม้กระทั่งจะใช้ชีวิตแบบของใครของมัน ซึ่งอันที่จริงแล้ว โดยธรรมชาติของแนวคิดดังกล่าว ก็มีลักษณะของความเป็นปลายเปิด ขึ้นอยู่กับบริบทชีวิตของแต่ละคน ว่าจุดที่ลงตัวระหว่าง ‘งาน’ ที่พอดี และ ‘ชีวิต’ ที่เพียงพอ มันจะลงที่จุดใด
และล่าสุด เมื่อมีวิวาทะเกี่ยวกับ ‘Work-Life Balance’ ครั้งล่าสุด ที่กล่าวกันถึงสภาวการณ์ในปัจจุบันที่ว่า การใช้ชีวิตแบบเน้นคุณค่าและสมดุล อาจจะไม่เพียงพอต่อสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาในปัจจุบัน จนอาจจะถึงขั้นต้อง ‘Work Hard to Survive’ หรือทำงานหนักเจียนตาย เพียงเพื่อให้ ‘มีชีวิตรอด’ ต่อไป
และมันก็ใช้เวลาไม่นาน ที่วิวาทะดังกล่าว จะแพร่กระจาย และสร้างการถกเถียงกันอย่างหนาหู เป็นวงกว้างแทบจะทันที ….
อนึ่ง แม้ว่าผู้หล่นวาทะดังกล่าว จะเป็นนักบริหารชื่อดัง ที่กุมบังเหียนแบรนด์เครื่องสำอางใหญ่อายุกว่าเจ็ดทศวรรษ และออกตัวว่า เป็นการกำกับย้ำเตือนตัวเอง และไม่ได้คิดจะนำมาประยุกต์ปรับใช้ในองค์กรของตน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในองค์กรของเขา ที่มีสวัสดิการให้พนักงาน ดีกว่าสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐกำหนด เช่น การลาคลอดที่มากถึง 180 วัน…) แต่ผลพวงจากการแสดงความคิดเห็น ก็ชวนให้เราย้อนกลับมามองสภาพความเป็นจริงของชีวิตการทำงาน ที่อาจจะกล่าวได้ว่า
มันสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องหา ‘สมดุล’ ให้เจอ ไม่ใช่เพียงในระดับปัจเจก แต่หมายรวมถึงในระดับ ‘ระบบ’ ของเศรษฐกิจโดยรวมเลยด้วยซ้ำ
ในฟากของการทำงาน ถ้ามองในภาพใหญ่ของคนทำงานทั้งระบบ หมายรวมไปถึงคนทำงานในระดับล่างพื้นฐาน มันก็อาจจะกล่าวได้ว่า พวกเขา/เธอ เหล่านั้น ได้อยู่ในสภาวะที่ทำงานระดับ ‘หนักเจียนตาย (Work Hardest)’ อยู่แล้วกันแบบรายวัน ชั่วโมงทำงานต่อวันที่มากกว่ากฎหมายกำหนด คือสภาพความเป็นจริงที่พวกเขาต้องพบเจอทุกเมื่อเชื่อวัน และอาจจะรวมไปถึงคนทำงานระดับกลาง ที่สิงสู่ตามอาคารสำนักงานย่านใจกลางเมือง ที่ต้องขับเคี่ยวในกระบวนการของเศรษฐกิจ เป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ที่ไม่มีใครมองเห็น
แน่นอนว่า การทำงานหนักเกินเวลาก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาร้ายแรงยิ่งกว่าการทำงานหนัก คือการทำงานหนัก ‘ที่ปราศจากคุณค่า (Worthless)’ ไม่ว่าคุณค่านั้นจะเป็นไปในรูปแบบของค่าตอบแทน ความพึงพอใจในเนื้องาน การเติบโตในสายงาน หรือคุณค่าที่ผู้ทำงานได้ตระหนักว่าได้สร้างสิ่งสำคัญให้แก่โลกและคนรุ่นหลัง งานจำนวนมาก เป็น Menial Job ที่ทำเพื่อ ‘กันตาย’ และเพื่อให้ ‘ผ่านชีวิตไปวันๆ’ จนคนทำงานก็ไม่รู้ว่าจะเงยหน้ามองหาอนาคตอะไรจากสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะไม่ว่าจะมองในเหลี่ยมมุมหรือมิติไหน ก็ดูอับจนมืดมนไปเสียทั้งหมด
คิดเป็นสมการง่ายๆ ว่า งานที่ไร้คุณค่า ทำเพื่อให้ผ่านพ้นไปวันๆ กร่อนทำลายความคิดและจิตวิญญาณ ด้วยค่าตอบแทนที่เพียงให้อยู่รอดแต่ไม่อาจเติบโต ในระดับที่หนักหน่วงอย่างสาหัส มันจะนำไปสู่อะไร? มันอาจจะนำไปสู่หลายต่อหลายสิ่ง แต่สิ่งที่เป็นความสร้างสรรค์อาจจะไม่ใช่ผลลัพธ์จากกระบวนการเหล่านั้นเป็นแน่
ในฟากของผู้ประกอบการเองก็เลวร้ายไม่แพ้กัน ความไม่สมดุลระหว่างผลตอบแทนและต้นทุนที่กำลงไป ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างองค์กร ไม่ว่าจะน้อยหรือใหญ่ กิจการรายย่อยล้มหายตายจาก จากการมาถึงของกิจการข้ามชาติที่กวาดกว้านดังคลื่นซัดสาด ธุรกิจขนาดกลางประสบปัญหาสภาพคล่อง เดือนชนเดือน จนต้องเรียกร้องเอากับคนทำงานสารพัดในทุกสิ่ง ด้วยความหวังว่าเพียงแค่เดือนหน้า (ใช่…. มองกันแค่ระดับเดือน ไม่มีอีกแล้วการมองระยะห้าปีสิบปี…) จะยังคงสามารถอยู่รอดปลอดภัย และไม่กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องปิดตัว ทิ้งไว้แต่เพียงตึกร้าง
ภาพเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่ทราบกันดี การเข้ามาของทุนต่างชาติ การผูกขาดของทุนเก่า มือใครยาวสาวได้สาวเอา โดยพ่วงคำว่า ‘อยู่รอด (Survive)’ เป็นบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ ที่หลายครั้ง การอยู่รอด ก็อาจจะหมายถึงการล้มตายของรากฐานที่ก่อร่างสร้างอยู่บนพื้นล่าง
เช่นนั้นแล้ว คำพูดที่ว่า เราต้อง Work Hard to Survive หรือทำงานเจียนตายเพื่อให้อยู่รอด จึงเป็นมายาคติที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะเงื่อนไขในทุกทาง ได้บีบเศรษฐกิจและสังคมให้เข้าถึงจุดอับจนไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย มันหนักเกินกว่าจะหนัก มืดมนไร้ความหวัง และบดกร่อนบ่อนทำลายตัวเองด้วยอัตราเร่งที่มากขึ้นทุกที
และเมื่อทุกสิ่งดำเนินมาในทางสุดโต่ง การหา ‘สมดุล’ เพื่อนำทุกสิ่งกลับสู่ที่ทางที่ควร จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง….
ไม่ได้บอกให้คนทำงานสบายใจเอ้อระเหยลอยชาย เช้าชามเย็นชาม แต่การทำงานก็ต้องมีความหวังในการเติบโตต่อยอด ภาคธุรกิจเองก็ควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ ด้วยนโยบายที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ให้สามารถต่อชีวิตหายใจได้ ไม่ว่าจะในระดับล่าง กลาง บน ไปจนถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาพรวม ก็ต้องพิจารณาถึงการเติบโตในระยะยาว ที่มีความยั่งยืน ใช่เพียงแค่สิ่งฉาบฉวย อะไรว่าดีก็ทำ พอหมดนิยม ก็เลิกร้างห่างเหินไป
ถ้าทุกอย่างดำเนินไปอย่าง ‘สมดุล’ ….. กระบวนการจะเดินหน้าไปอย่างเป็นธรรมชาติ การเติบโตอาจจะไม่ได้เร็วมาก แต่เป็นไปด้วยความปลอดภัย เศรษฐกิจดี ชีวิตมีความหวัง การพัฒนาและการยกระดับการผลิตและการทำงานก็จะตามมา ….
เพราะตบมือข้างเดียวไม่เคยดัง และประเทศไทยก็เรียกร้องเอาจากคนทำงานมากมายเหลือเกินในหลายปีที่ผ่านมา …..
และแม้ Work-Life Balance จะเป็นแนวคิดที่อิงกับปัจเจกเป็นหลัก แต่ด้วยสภาวะที่ขาด ‘สมดุล’ ทั้งระบบเช่นนี้ มันอาจจะถึงเวลาที่จะต้องมาใส่ใจกับสุขภาพเศรษฐกิจ สังคม และการหาจุดลงตัวเพื่อก้าวต่อไปก็เป็นได้ …..
Leave feedback about this