ticycity.com Contents Culture God's City สองแผ่นดินแซ่ซ้อง “สมเด็จพระเจ้าตากสิน” กษัตริย์เพียงพระองค์เดียวแห่งกรุงธนบุรี
Culture God's City

สองแผ่นดินแซ่ซ้อง “สมเด็จพระเจ้าตากสิน” กษัตริย์เพียงพระองค์เดียวแห่งกรุงธนบุรี

วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้ วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ พร้อมถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ผู้กอบกู้เอกราชให้ชนชาติไทย …วันสำคัญแบบนี้มีหรือที่ Nai Mu กรูรูสายมูผู้มีเรื่องเล่ามากมายให้กับ Ticy City จะตกกระแส แต่จะเป็นเรื่องเล่าถึงพระองค์ในแง่มุมไหนนั้น ตาม Nai Mu ไปอ่านกันได้เลย

Nai Mu ของไม่เล่าถึงพระราชประวัติของพระองค์ เพราะเป็นที่ทราบที่รู้กันอยู่แล้ว แต่จะของเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเพื่อสายมูจะได้ไปกำหนดพิกัดไปกราบสักการะได้ถูกที่ถูกทาง โดยเรื่องราวของ “พระเจ้าตากสินมหาราช” กษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในแผ่นดินกรุงธนบุรี ไม่เพียงเป็นที่เล่าขานในหมู่คนไทยเท่านั้น แม้ในเมืองจีนก็ยังมีสุสานบรรจุฉลองพระองค์ไทย-จีนอย่างละชุด และพระมาลา  โดยสุสานแห่งนี้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ได้รับการคุ้มครองในเขตเถ่งไฮ่อีก สำหรับด้านเมืองไทยจะเห็นว่าตามวัดต่างๆ นั้นก็จะมีพระบรมรูปและพระฉายาลักษณ์พระองค์ท่านไว้บูชาด้วยเช่นกัน 

พระบรมรูปแต้ฮ๋อง
ป้ายจารึก

“เฉิงไห่เจิ้งหวังมู่” สุสานที่ประเทศจีน 

พระเจ้าตากสิน แซ่แต้ คนจีนเรียก “แต้อ๋อง” ! 

โดยสุสาน “เฉิงไห่เจิ้งหวังมู่” มีความหมายว่า “สุสานแต้อ๋อง ณ เถ่งไฮ่”  ตั้งอยู่ที่อำเภอเถ่งไฮ่ หรือเฉิงไห่ นคร   ซัวเถาหรือซ่านโถว มณฑลกวางตุ้ง 

พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “คืนถิ่นจีนใหญ่” กล่าวถึงการเสด็จ ฯ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2540 ว่า “สุสานเหมือนกับหลุมฝังศพฝรั่งธรรมดา ไม่ได้ทำโค้งๆ แบบฮวงซุ้ยจีนที่เคยเห็นที่อื่น มีป้ายหินแกรนิตสีชมพูสลักตัวทองเป็นอักษรจีนแปลความว่า สุสาน ฉลองพระองค์และพระมาลาของพระเจ้าตากสินแห่งกรุงสยาม สร้างขึ้นในปีที่ 47 แห่งรัชสมัยเฉียนหลง ค.ศ.1784   (บูรณะใหม่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ.1985) หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตได้ 2 ปี ข้าราชบริพารเชื้อสายจีนได้นำฉลองพระองค์และพระมาลามา 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นชุดไทย อีกชุดหนึ่งเป็นจีนกลับมามอบให้พระญาติที่หมู่บ้านหัวฝู่นี้ พวกพระญาติสร้างสุสานบรรจุสิ่งของเหล่านี้ไว้สักการะ”

เฉิงไห่เจิ้งหวังมู่ 

โดยเมื่อแรกสุสานแห่งนี้เป็นแค่สุสานขนาดปกติทั่วไป ไม่ได้ใหญ่โตอะไร จนเมื่อ ปี 2528 เศรษฐีเชื้อสายจีนในไทย ได้ระดมเงินทุนไปบูรณะ ขยายอาณาเขตจนใหญ่โต เพื่อให้สมพระเกียรติกษัตริย์ไทย 

วัดและพระบรมราชานุสาวรีย์ในไทย 

สำหรับที่ประเทศไทยวัดต่างๆ นิยมตั้งพระบรมรูปสมเด็จพระจ้าตากสิน เช่นเดียวกับกษัตริย์ไทยพระองค์อื่นๆ ไม่ว่าวัดนั้นจะมีหรือไม่มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ก็ตาม

อาจารย์ศิลป พีระศรี กับผลงาน

พระบรมราชานุสาวรีย์

โดยพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่วงเวียนใหญ่ ประดิษฐานในลักษณะทรงม้า พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ความสูงจากเท้าม้าถึงยอดพระมาลา 9 เมตร ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 และในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2497 จึงมีรัฐพิธีเปิดเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิ เบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และเมื่อถึงวันปราบดาภิเษก คือวันที่  27-28 ธันวาคมของทุกปี ก็จะมีการปิดถนนลาดหญ้า เพื่อจัดงานรำลึกถึงพระองค์ท่าน  

วัดอินทาราม
วัดอินทาราม
วัดอินทาราม
วัดอินทาราม

วัดอินทารามวรวิหารฝังพระอัฐิ

วัดอินทารามวรวิหาร ชื่อเดิมคือ วัดบางยี่เรือนอก เป็นเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา  โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานชื่อใหม่ว่า “วัดอินทารามวรวิหาร”  วัดแห่งนี้มีเจดีย์คู่กู้ชาติ องค์ขวาบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสิน ,องค์ซ้าย บรรจุพระบรมอัฐิพระอัครมเหสี สมเด็จกรมหลวงบาท       บริจา (พระนางสอน) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เจ้าครอกหอกลาง  ภายในวัดมีพระบรมรูปพระเจ้าตากสินนั่งประทับว่าราชการที่บริเวณกลางแจ้ง  ,  ด้านหน้าของอุโบสถหลังเก่าจะมีพระบรมรูปพระเจ้าตากสินทรงม้า ,   ภายในอุโบสถ มีพระแท่นบรรทม , พระบรมรูปในอิริยบทนั่งกรรมฐาน และพระบรมรูปห่มจีวรยืนอุ้มบาตร ซึ่งวัดแห่งนี้ Nai Muบอกได้เลยว่ามีคนมากราบไหว้ขอพรพระองค์ท่านทุกวันไม่เคยขาด  Nai Mu เองก็ไม่พลาดเช่นกัน

วัดหงส์รัตนารามวรวิหาร

หลังประหาร เฮี้ยน ที่วัดหงส์ฯ

วัดหงส์ ที่ Nai Mu เขียนถึงนี้คือวัดหงส์รัตนารามวรวิหาร เป็นวัดเดิมสมัยอยุธยา “เจ้าขรัวหง” เศรษฐีชาวจีน ย่านกุฎีจีนเป็นผู้สร้าง เดิมทีตั้งชื่อว่า “วัดขรัวหงส์” โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินได้บูรณะวัดนี้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังเดิมของพระองค์ท่าน ทรงราชูปถัมภ์วัดนี้ตลอดรัชกาล เมื่อทรงว่างจากราชกิจก็มักจะมานั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนากรรมฐานที่นี่ 

ทั้งนี้ชื่อของวัด ได้เปลี่ยนและเติมชื่อมาหลายครั้ง เช่น วัดหงส์อาวาศบวรวิหาร ในรัชกาลที่ 1 , วัดหงส์อาวาสวรวิหาร ในรัชกาลที่ 2 , จนเป็นวัดหงส์รัตนาราม ในรัชกาลที่ 4 และ มาเติม “วรวิหาร” ต่อท้ายในรัชกาลที่ 6 

วัดหงส์รัตนารามวรวิหาร
วัดหงส์รัตนารามวรวิหาร

สำหรับที่นี่เชื่อกันว่า “ศาลพระเจ้าตากสิน” แห่งแรกของประเทศไทยตั้งต้นที่นี่  โดยมีเรื่องเล่าเป็นตำนานว่า หลังพระเจ้าตากสินถูกสำเร็จโทษที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ได้มีการอัญเชิญพระบรมศพผ่านวัดขรัวหงส์แห่งนี้ เมื่อขบวนเดินผ่านวัดแห่งนี้ ทหารผู้ที่ถือพานรองพระโลหิต หันไปเห็นสมเด็จพระเจ้าตากยืนไร้พระเศียรที่หน้าพระอุโบสถ จึงตกใจมาก ทำพานร่วงหล่นหลุดจากมือ ทำให้เชื่อกันว่า พระองค์จะไม่ไปในที่อื่นใด!  จึงได้ทำการกอบดินที่ผสมกับพระโลหิตมาปั้นเป็นพระรูป ตั้งไว้ที่บริเวณต้นโพธิ์ ใกล้ศาลปัจจุบัน 

และวัดหงส์ฯแห่งนี้เองที่เป็นวัดซึ่งคนชอบมูมากัน เพราะมีสระและบ่อน้ำมนต์ 4 ทิศ อันศักดิ์สิทธิ์ ! 

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ลอดพระแท่น ที่วัดอรุณฯ

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดอรุณ” หรือ “วัดแจ้ง” นั้น เดิมชื่อ วัดมะกอก เป็นวัดที่มีมาก่อนสมัยพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยา แต่ครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินเดินทัพเมื่อคราวกู้อิสรภาพด้วยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้นมาถึงวัดนี้ตอนรุ่งแจ้งพอดี จึงเรียก “วัดแจ้ง” ทรงขึ้นจากเรือและนมัสการพระปรางค์ ในรัชสมัยของพระองค์  วัดแจ้ง เป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกต”  ที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ ต่อมาได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม”  ตราบทุกวันนี้  

และที่โบสถ์น้อยพระเจ้าตากสิน คนไทยและคนต่างชาตินิยมทำกันคือ ลอดพระแท่น เพื่อ “ล้างอาถรรพณ์ หนุนดวง เสริมบารมี” 

เรื่องราวของพระเจ้าตากสิน และวัดอื่นๆ ยังมีอีกมาก ไว้เมื่อถึงโอกาสเหมาะสมNai Mu จะเล่าให้ฟังอีก

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

และครั้งนี้ขอปิดท้ายด้วย “กฤษณาสอนน้องคำฉันท์” ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเหมาะ ตรงและได้ใจความที่สุด 

“พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง

โททนต์เสน่งคง สำคัญหลายในกายมี

นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ 

สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา” 

(เรื่องราวนางกฤษณาคือ นางเทราปตี (เทฺรา ปะ ตี) ในมหาภารตยุทธ์ นางเป็นเมียของพี่น้องปาณฑพทั้ง 5 คน) 

เรื่อง : Nai Mu 

Exit mobile version