ticycity.com Contents Culture God's City นวราตรี พื้นที่ “พลัง อำนาจเพื่อหญิง” โดยแท้ ! การแสดงตัวตนและอำนาจของผู้หญิง  
Culture God's City

นวราตรี พื้นที่ “พลัง อำนาจเพื่อหญิง” โดยแท้ ! การแสดงตัวตนและอำนาจของผู้หญิง  

วัดแขก

“ โอม ศักติ โอม – โอม กาลี โอม – โอม เวล เวล” 

เสียงผู้ศรัทธาตะโกนดังกึกก้อง เมื่อขบวน “ม้าทรง” ของพระแม่มริอัมมัน , เจ้าแม่กาลี และ ขันธกุมาร   (การติเกยะ) ยาตราสู่เส้นทางที่กำหนดไว้

ย้อนความเดิมเมื่อแผ่นดินรัชกาลที่ 5 

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2422  ชาวทราวิฑ  (ทมิฬ) เดินทางจากประเทศอินเดียมาอยู่ที่ภาคใต้ของไทย และได้เดินทางมาประกอบอาชีพที่เมืองบางกอก ทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังเสด็จประพาสอินเดียกลับสู่ประเทศไทย ทรงรับสั่งกับชาวทราวิฑที่มาเข้าเฝ้าว่า “อยากได้สิ่งใดให้บอก ทางประเทศอินเดียฝากเอาไว้”

ซึ่งชาวทมิฬไม่ต้องการสิ่งใด นอกจากขอสร้างเทวาลัยเพื่อบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือเท่านั้น ! โดยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5ทรงอนุญาต ศาลไม้แห่งแรก ตั้งที่บริเวณหัวลำโพง ประดิษฐาน “เจ้าแม่มริอัมมัน” เทวีแห่งฝน และรักษาไข้จำพวก ฝีดาษ และไข้ทรพิษที่ชาวอินเดียใต้นับถือ ต่อมาได้ขยับขยายย้ายมาตั้งบนถนนสีลม แต่เดิมพื้นที่บริเวณที่ตั้งวัดแขกในปัจจุบัน คือสวนผักของนางปั้น อุปการโกษากร ต่อมานายไวตรีประเดียอะจิ,  นายนารายเจติ และนายโกบาระตี ชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านถนนสีลม ได้นำที่ดินของพวกตนไปแลกกับที่ดินสวนผักผืนนี้

ม้าทรง ‘พระแม่มรีอัมมัน’  – (เสื้อเหลือง) คุณสุรพงษ์ สิริธรกุล ประธานคณะกรรมการมูลนิธิวัดพระศรีมหาอุมาเทวีท่านปัจจุบัน

แล้วสร้างวัดขึ้นโดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการประกอบกิจกรรมของชาวฮินดูจากอินเดียตอนใต้ และได้มีการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ “วัดพระศรีมหามริอัมมัน” เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2454

ทั้งนี้งานแห่เจ้าแม่วัดแขก  เป็นประเพณีที่สืบเนื่องมายาวนาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีว่างในบางปีด้วยเหตุสุดวิสัย เช่นสงครามโลกครั้งที่ 2 , การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 เป็นต้น

เริ่มแล้ว!!!  นวราตรี ปีนี้

แม้งานจะผ่านมาหลายวันแล้ว  แต่ยังไม่สิ้นสุด เทศกาล “นวราตรี” ประจำปี 2567 ที่เริ่มในวันขึ้น 1-9 ค่ำเดือน 11 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 3-11 ตุลาคม 2567  โดยในวันที่ 2 ตุลาคม ก่อนเริ่มงานทำพิธีบอกกล่าวแด่บรมครูพระพิฆเณศวร , เทพประจำแผ่นดิน , เทวดานพเคราะห์, เทพ-เทวีในเทวาลัย และจะมีการแห่ “พระแม่ชูลัมกาลี” ปีละครั้งรอบเทวาลัย! 

ทั้งนี้การเฉลิมฉลองในวันที่ 12 ตุลาคม เรียกว่า  “วันวิชัยทศมี” (ทศมี -ลำดับสิบ) บางแห่งเรียก ดุซเซราห์ !  หลังประกอบพีธีในวัด ขบวนต่างๆ จะเริ่มออกจากเทวาลัยตั้งแต่เวลา 19.30 น. โดยประมาณ มีขบวนรถบุปผชาติแทนวิมานขององค์เทพที่ประดิษฐานบนรถ 5 ขบวน (พระพิฆเนศวร, พระขันธกุมาร,พระกฤษณะ, พระกัตตวรายัน, พระตรีเทวี (อุมา, ลักษมี, สรัสวดี)  และขบวนม้าทรง 3 พระองค์ คือ พระแม่มรีอัมมัน, พระแม่กาลี และ พระขันธกุมาร (ที่อินเดียเรียก พระการติเกยะ)  เทศกาลนวราตรีนี้จะจบสมบูรณ์ในวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม ด้วยพิธีเชิญธงสิงห์ลงจากยอดเสา และอาบน้ำคนทรง !

“พระแม่มรีอัมมัน” อำนาจ เพื่อหญิงโดยแท้ !

เทศกาลนวราตรี หรือ “ทุรคาบูชา”  เพื่อบูชาเทพสตรี คือ “นวทุรคา” ทั้ง 9 ปาง เช่น แม่ไศลปุตรี , พระแม่พรหมจาริณี ,  พระแม่จันทรมัณฏา ,  พระแม่กูษมาณฑา, พระแม่สกันทมาตา, พระแม่กาตยายะนี , พระแม่กาลราตรี , พระแม่มหาเการี , พระแม่สิทธิทาตรี  ซึ่งแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีปางบูชาที่แตกต่างกันไป

สำหรับที่วัดแขกสีลม ทั้ง 9 วันนี้ จะมีแบ่งการบูชา “ตรีศักติเทวี”  ได้แก่  พระทุรคาเทวี 3 วัน, พระลักษมี 3 วัน , พระอุมา-ศิวะ 2 วัน และพระสรัสวดี 1 วัน

พระนางมรีอัมมัน และ การติเกยะ (ขันธกุมาร)  เป็นเทพท้องถิ่นของอินเดียใต้ เป็นความเชื่อเดิมของชาวบ้านก่อนที่อารยันจะเข้ามาที่อินเดีย  นักวิชาการเรียก “ศาสนาผี” ! เทพในกลุ่มนี้ จึงมีทั้งภาคใจดี และดุร้าย เช่น พระไภรวะ (ไภรวี)  , พระกาล (กาลี) ฯลฯ ทางอินเดียใต้มีการเข้าทรงองค์เจ้า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่อินเดียเหนือไม่มี  

พระแม่มรีอัมมัน และ อินเดียใต้ เป็นพื้นที่สำคัญในการแสดงตัวตนและอำนาจของผู้หญิง  และชาว LGBTQ+ จะให้ความเคารพ และสักการะพระองค์ท่านมากเป็นพิเศษ แต่ละปี ซุ้มบูชาต่างๆ ถูกประประดิษฐ์ประดอย จัดวาง แต่งองค์เทพต่างๆ ให้สวยงาม ตระการตา  

วันของเรา “พลังหญิง เพื่อหญิง”!

ในค่ำคืนนั้นจะเห็นรอยยิ้มอันสดใสของคนเชื้อชาติต่างๆ ที่มาร่วมชมในงานนี้ คนไทยไม่น้อยให้เกียรติพระแม่ด้วยการแต่งกายด้วยชุดส่าหรี ,กูรตะ และผ้านุ่งโธตี แต่งหน้าหลากสีสันสวยงาม…

แต่ละซุ้ม ควันธูป เปลวเทียน กลิ่นกำยาน เครื่องหอม และเปลวไฟจากการถวายไฟอารตีด้วยการบูร ลอยคลุ้งไปทั่วบริเวณกว้าง  ซุ้มสักการะจำนวนไม่น้อยที่ออกแบบ จัดวาง ตั้งองค์บูชาต่างๆ อย่างงดงามและมีศิลปะ รายล้อมด้วยดอกไม้หลากหลากพันธุ์ และมีกิจกรรมต่างๆที่นำมาร่วมในงานนี้อีกมากมาย บางซุ้มมีเต้นรำถวายองค์เทพ จะเป็นการเต้นแบบอินเดียเหนือหรืออินเดียใต้ก็แล้วแต่ 

และในบางซุ้ม อาจจะเห็นกิจกรรมของเจ้าสำนักที่แต่งกายแฟนซี เป็นองค์เทพฯต่างๆ มาประทานพร ! 

แต่!!! สำคัญสุด ที่ทุกซุ้มต้องมี คือ “มะพร้าวห้าว” จำนวนมาก ที่จะทุ่มลงพื้นถนน ให้กะลาแตกออก  เรียก “ทุบมะพร้าว” เชื่อว่า มะพร้าวเป็นผลไม้ของพระเจ้า เกิดในที่สูง จึงใช้น้ำบริสุทธิ์จากธรรมชาติ ชำระถนนให้สะอาด และทำลายอัตตาของผู้บูชา! 

วันของเรา “พลังหญิง เพื่อหญิง”!

นอกจาก PRIDE MONTH ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนของผู้หลากหลายทางเพศแล้ว ก็มีวันนี้แหละ ที่ชาว LGBTQ+ นิยมแต่งตัวชนิดเทหมดหน้าตัก ประกาศตัวตน ย่ำเดินบนถนนสีลมได้อย่างองอาจ ไม่อายใคร เพราะทุกคนรู้ดีว่า ลัทธิการบูชาพระแม่เจ้านั้น ประกาศศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันทุกเพศมาเนิ่นนานแล้ว  

 #ตีซี้ซิตี้ #เมือง #Ci#TicyCityty #GodsCity #Naimu #กรุงเทพ #สายมู # เรื่องเล่า #นวราตรี #วัดแขก    #สีลม #ถนนปั้น #พระแม่อุมา  #ขบวนแห่ #LGBTQ+

Exit mobile version