ธันวาคม 25, 2024
ticycity.com
Culture God's City

เกร็ดบางเรื่อง “กรมหลวงชุมพรฯ” ที่ปากคลองมะขามเฒ่า !

องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย

“โอม ชุมพร จุติ อิทธิการะนัง สุโข นะโมพุทธายะ นะ มะ พะ ทะ จะ พะ กะ สะ มะ อะ อุ”

Ticy City เชื่อว่า เมื่อเอ่ยพระนามของเสด็จเตี่ย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หลายท่านคงพอทราบถึงเรื่องราวพระประวัติของพระองค์ท่านกันบ้างแล้วทั้งในด้านที่ทรงเป็น “องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย” หมอพรแห่งแพทย์แผนไทย หรือที่คนทั้วไปในยุคนั้นขนานนามว่า “หมอพรหมอเทวดา” แต่วันนี้ Nai Mu  อีกด้านที่หลายคนยังไม่ทราบ เป็นเรื่องราวของเกร็ดบางเรื่อง “กรมหลวงชุมพรฯ” ที่ปากคลองมะขามเฒ่า 

ซึ่งเดือนนี้ วันที่ 19 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันประสูติของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466) องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย

“หมอพร”  อีกพระนามหนึ่งของพระองค์ ตอนออกจากราชการ 

ว่ากันว่า เลข 19 นี้ สัมพันธ์กับพระองค์ท่าน ด้วยพระองค์ประสูติ และสิ้นพระชนม์ ในวันที่ 19  อีกทั้งเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 พระองค์ทรงได้รับการถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น ‘องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย’ จากที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ 

ตลอดในช่วง 43 ปีของพระองค์ท่านเต็มไปด้วยเรื่องราวอันหลากหลายสีสัน  กราฟชีวิต ขึ้น-ลง-ผกผัน และกลับมาสง่างาม สมพระเกียรติในวาระสุดท้าย ! 

เกร็ดที่ Nai Mu จะเล่านี้ เป็นเกร็ดในช่วงที่ท่านและครอบครัวไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งที่ปากคลองมะขามเฒ่า เรียนวิชากับหลวงปู่ศุข คบค้ากับชาวบ้าน เป็นมิตรกับชุมชนละแวกนั้นอย่างไม่ถือพระองค์ 

ในช่วงเวลาที่ท่านมา ณ วัดปากคลองมะขามเฒ่า นิยมสวมเสื้อคอกลม นุ่งกางเกงเคียนด้วยผ้าขาวม้าสีแดง และใส่รองเท้าแตะ ! 

เกร็ดนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ  “ประวัติ พระครูวิมลคุณากร (ศุข) วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท โดยนายแพทย์ สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย ซึ่งสโมใสรไลอ้อนส์ ชัยนาท – ชมรมพระเครื่องชัยนาท จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ 

พระรูปกรมหมื่นหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (ลงสีใหม่โดย S. Phormma’s Colorizations)
  1. คราวหนึ่งมีเทศน์ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า มีพิณพาทย์วงคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์มาบรรเลง เมื่อเทศน์จบ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงติการตีพิณพาทย์ของวงนี้ว่า  “ตีเหมือนกับหม่อมของท่านตีกะลา” 
  2. เมื่อหม่อมของท่านเดินผ่านตลาด มีหม่อมท่านหนึ่งเป็นฝรั่ง (หม่อมเดซี) เป็นจุดสนใจของชาวบ้านทั่วไป เพราะสีผิวและผมแตกต่างไปจากคนอื่นๆ เมื่อเดินผ่านจึงชวนกันมามุงดู เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน
  3. มีอยู่ครั้งหนึ่งเป็นฤดูแล้ง หาดทรายขึ้นที่ฝั่งตรงข้ามวัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นสงกรานต์พอดี ชาวบ้านจึงมาเล่นสงกรานต์กันตามประเพณี ที่หาดทรายมีหม่อมของท่านบางคนอยากดู จึงไปดูชาวบ้านเล่นสงกรานต์กันโดยไม่ได้ขออนุญาต กลับมาเลยถูกกรมหลวงชุมพรฯ ตีด้วยไม้ตะพด
  4. กรมหลวงชุมพรฯ เคยเสด็จไปยิงจระเข้และปลาที่บึงใหญ่ เรียกว่า บึง หรือ หนองท่าเรือ การไป ก็ไปเป็นขบวนใหญ่ มีหม่อมและชาวบ้านที่คุ้นเคยกับพระองค์ติดตามไปด้วย เตรียมข้าวปลาอาหารไปรับประทานกันแบบปิคนิค ตอนนั้นเลยวัดปากคลองออกไปยังคงเป็นป่ารก ชาวบ้านต้องเดินนำ ฟันไม้ออกเป็นทางเพื่อให้เดินได้สะดวก สมัยนั้นเสือและจระเข้ชุมมาก ม้าของหลวงพ่อศุขเคยถูกเสือกิน ชาวบ้านใต้วัดปากคลองมะขามเฒ่ายังต้องเอาสุนัขขึ้นไว้บนบ้านในเวลากลางคืน ไม่เช่นนั้นจะถูกเสือกินหมด
  5. ชาวบ้านตำบลธรรมมามูล ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดปากคลองมะขามเฒ่า เคยเล่าให้ฟังว่า กรมหลวงชุมพรฯเคยเสด็จมาเที่ยวยิงนก และหาสุราพื้นบ้านเสวยบ่อยครั้ง 
  6. ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปสำรวจหนองท่าเรือทอง (เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ซึ่งส่วนต้นและปลายลำน้ำตื้นเขินขึ้น เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนทางเดินใหม่) สองครั้ง ครั้งแรกข้าพเจ้าไปทางฝั่งตะวันออกของหนอง โดยสมุห์ทองหล่อทัดมาลี กรุณานำไปดูบริเวณที่เป็นถ้ำจระเข้ ซึ่งมีอยู่หลายถ้ำ ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าได้ไปฝั่งตะวันตกของหนอง โดยการนำของนายเผด็จ นิมะวัลย์ และนายอำนวย ศรีเพ็ญ จุดมุ่งหมายเพื่อศึกษารายละเอียดเรื่องพระวัดปากคลองมะขามเฒ่า ในการไปครั้งนี้ ได้ทราบจากนางสำรวย บัวขาวว่า กรมหลวงชุมพรฯ เคยเสด็จมาที่หนองท่าเรือหลายครั้ง โดยท่านมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อ นายเปรม มัชบาล เป็นชาวมอญอยู่ปากเกร็ด นนทบุรี เมื่อใดกรมหลวงชุมพรฯ เสด็จวัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านมักจะไปเยี่ยมนายเปรมเสมอ ทางนายเปรมก็จะจัดสร้างพลับพลาไว้รับเสด็จยาวหลายห้อง ทั้งนี้ เพราะผู้ตามเสด็จมีทั้งหม่อมและพระโอรส ธิดาของกรมหลวงชุมพรฯด้วย ….

กรมหลวงชุมพรฯ บางครั้งเสด็จพักอยู่นาน 3-4 วัน ก็มีของโปรด “อ้ายเป้” มีบริการพร้อมทุกเมื่อ พระองค์ทรงพระสำราญมาก ทรงร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกสนานครึกครื้น …

ฉายรูปพร้อมเหล่าโอรสและธิดา

กรมหลวงชุมพรฯชอบเสวยอ้ายเป้ 

เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ เสด็จมาที่วัดปากคลองมะขามเฒ่านั้น เวลาว่างๆ ท่านมักจะไปหา “อ้ายเป้” ซึ่งเป็นน้ำตาลหมักทำเองของชาวชนบทชนิดหนึ่ง จนเป็นที่รู้กันทั่วไป ขอนำเรื่องที่ผู้เล่าคือ นางหีบ สุขทอง เล่าเมื่อ 4 พฤษภาคม 2523 เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบอีกมุมหนึ่งของชีวิตกรมหลวงชุมพรฯ ในสมัยนั้น 

ผู้เล่ามีสามีชื่อ ยอด บ้านอยู่ใต้วัดปากคลองมะขามเฒ่า วันหนึ่งกรมหลวงชุมพรฯ พบนายยอด จึงถามว่า “อ้ายยอด อ้ายน้ำหวานๆ ขมๆ มีที่ไหนวะ” นายยอดจึงตอบว่า มีตรงนี้เอง กรมหลวงชุมพรฯ จึงบอกว่า “กูให้วันละบาท มึงเอากาใส่มาให้กูใต้ต้นกะจะทุกวันนะ” นายยอดจึงต้องทำหน้าที่หาอ้ายเป้มาไว้ตามที่กรมหลวงชุมพรฯ สั่ง พอตกบ่ายท่านมาเสวยอ้ายเป้ที่ต้นกะจะนั้นทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านไปที่ต้นกะจะตามเวลา ไม่พบกาใส่อ้ายเป้ จึงสั่งคนไปตามนายยอดมา ท่านถามว่า “ทำไมไม่เอากาน้ำร้อนมา (กาใส่อ้ายเป้) นายยอดทูลตอบว่า “ตำรวจจับคนทำไปเสียแล้ว” ท่านจึงเขียนจดหมายให้มหาดเล็กถือไปอำเภอไปรับตัวตาปั่น ดีประเสริฐ คนทำกลับมาจากตำรวจ (มีบางท่านกล่าวว่า ท่านให้คนเอาเงินค่าปรับไปเสีย 20 บาท จึงรับคนกลับ) แล้วเขียนหนังสือให้ตาปั่นทำอ้ายเป้ตลอดชีวิต ไม่ให้ตำรวจจับอีก

ประวัติ พระครูวิมลคุณากร (ศุข) โดยนายแพทย์ สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย

เรื่องเกร็ดหนังสือเล่มนี้มีมากมาย  ทั้งหลวงปู่ศุข และ กรมหลวงชุมพรฯ 

หมายเหตุ หม่อมเดซี ที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ หม่อมลินจง บุนนนาค   เป็นพระธิดาพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) กับ คุณหญิงลิ้นจี่ – ท่านเป็นสามัญชนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และลงนามในธนบัตร ท่านเขียนหนังสือวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ เรื่อง “ทรัพย์ศาสตร์” จำนวน 3 เล่ม (สมัยนั้น รัชกาลที่6 ไม่พอพระทัย เพราะหนังสือพูดถึงความยากจนในสยาม การจัดการระบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อลดการเอาเปรียบและเหลื่อมล้ำในสังคม สนันสนุนระบบสหกรณ์ (สมาคมคนทำงาน) จนเป็นหนังสือต้องห้าม และกลับมาเผยแพร่อีกครั้ง เมื่อมีการสอนลัทธิเศรษฐกิจใน มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี พ.ศ. 2477) 

หม่อมลินจง บุนนนาค (หม่อมเดซี่) 
จากเพจ Eat Pray Live ที่เคยกล่าวถึงบ้านสุริยานุวัตร

ในเพจ Eat Pray Live กล่าวถึง “บ้านสุริยานุวัตร” ความตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ ‘บ้านสุริยานุวัตร’ นี้เป็นที่พำนักของท่านพระยาสุริยานุวัตรและครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วยภรรยาคือคุณหญิงลิ้นจี่ และบุตรธิดาอีก 7 คน โดยหนึ่งในนั้นคือหม่อมลินจง หรือหม่อมเดซี่ หม่อมห้ามในพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สตรีที่ทรงเคยรู้จักสนิทสนมตั้งแต่ครั้งยังประทับอยู่ที่ต่างประเทศ มีเรื่องเล่าขานกันว่า หม่อมลินจงได้ทำการปลิดชีวิตตัวเองที่บ้านหลังนี้ในวันที่พระองค์ท่านทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระชายาและ ‘เสด็จเตี่ย’ได้ทรงมารับร่างที่ไร้ลมหายใจของหม่อมลินจงกลับไป ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้เห็นร่างของหม่อมลินจงอีกเลย

เรื่องราวจะจริงเท็จอย่างไร ไม่มีใครกล้ายืนยัน…” ! 

เรื่อง :   Nai Mu

Leave feedback about this

  • Rating

Art & Event, Culture

Finding U

Culture, God's City

สองแผ่นดิ

Fashion, Trends

QUAD EYE

PR news, TICY PR

“ต้นกล้าฟ

Culture, Ticy Entertainment

10 Christ

X