ticycity.com Contents Culture God's City ศิวลึงค์ในค่ำคืน  “มหาศิวะราตรี” !
Culture God's City

ศิวลึงค์ในค่ำคืน  “มหาศิวะราตรี” !

มหาเทพฮินดู

สำหรับสายมูเทพฮินดูเตรียมตัวให้พร้อม เพราะ  Nai Mu กรูรูสายมูผู้มีเรื่องเล่ามากมายใน God’s City จากเว็บต์ไซต์และเพจ Ticy City มาส่งข่าววันศิวะราตรี ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการเสกสมรสของมหาเทพและเทวีสายฮินดู พร้อมเกร็ดความรู้ในเรื่องของ  ศิวลึงค์ในค่ำคืน  “มหาศิวะราตรี” 

เวียนมาอีกครั้ง สำหรับเทศกาลมหาศิวะราตรี (Maha Shivaratri) ปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 26 มีนาคม 2568 (วัน 14 ค่ำ เดือน 4 ทางจันทรคติฮินดู) โดยกำหนดการของปฏิทินวัดแขก สีลม เริ่มตั้งแต่ช่วงเย็นราว  17.30 น. และสวดบูชาตลอดทั้งคืน แบ่งเป็น 4 รอบดังนี้  20.00 , 23.00 , 02.00 และ 05.00 น.เป็นรอบสุดท้าย ส่วนที่อื่นๆ ตามกำหนดการของเทวาลัยนั้นๆ

ค่ำคืนนี้ ผู้ศรัทธาจะสวดมนตร์ 5 พยางค์ หรือ ปัญจากษรมนตร์  “โอม นมะ ศิวายะ” (Om Namah Shivaya ) เสียงนั้นจะดังแซ่ซ้องไปทั่วทุกแดนที่เคารพนับถือ “พระศิวะมหาเทพ”  ในรัฐต่างๆ ของอินเดีย ถือว่าเป็นงานใหญ่มาก! 

กินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ดว่าเป็น “ประติมากรรมพระศิวะขนาดครึ่งหน้าอกที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ได้รับการออกแบบโดย Sadhguru Jaggi Vasudev เป็นที่รู้จักในชื่อ “Adiyogi Shiva” (“Adiyogi” – โยคีคนแรก)

“ศึวลึงค์”  (Lingam)  องคชาติฝ่ายบุรุษจะครบถ้วนต้องรองรับด้วย “ฐานโยนิโทรณะ”  (Yoni) คำว่า “โยนี” หมายถึง “อวัยวะเพศหญิง” และ “โทรณะ” หมายถึง “ทางเข้าออก” คือร่องน้ำของฐานโยนีที่ยื่นออกมา เป็นสัญลักษณ์แทนพระนางปารวตี (Parawati Goddess)  ปลายท่อน้ำของฐานโยนีโทรณะตั้งอยู่ทางทิศเหนือเสมอ เนื่องจากคติความเชื่อของศาสนาฮินดูที่ว่า ทิศเหนือเป็นทิศที่แม่น้ำคงคา (Ganges River) ไหลลงมา และน้ำที่ผ่านการสรงสนานองค์ศิวลึงค์เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถดื่มหรือปะพรม เพื่อความเป็นสิริมงคลได้  

นักบวชในโบราณกาลเชื่อกันว่า มีพลังชีวิตขับคลื่อนอยู่ในทุกสิ่ง แม้ในสิ่งที่ไม่อาจจะจับต้อง หรือรับรู้ด้วยวิชาวิทยาศาสตร์  ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร เป็นหรือตาย เหล่านักบวชโบราณขนานนามพลังงานนี้ว่า  “พระศิวะ” ใช้ ศิวลึงค์ หรือ เสาไฟ หรือ องคชาติฝ่ายชายเป็นตัวแทนของพระองค์ 

ศิวลึงค์สำคัญมีอยู่ 12 แห่ง คือ โสมนาถ, มัลลิการชุน, มหากาล,โองการ, อมเรศวร, ไวทยนาถ, ราเมศ, ภีมศังกร, วิศเวศวร, ตรยัมพกะ, เคาตเมศ, เกฑาเรศ 

ผู้เคร่งครัดในเทศกาลศิวะราตรีจะอดอาหารและสวด-ร้องเพลงสรรเสริญบูชาตลอด 24 ชั่วโมง ลึกลงไปในปรัชญา “ศิวลึงค์-โยนี”  เป็นสองสิ่งที่รวมกันเป็นหนึ่งไม่อาจแยกจากกันได้ ส่งผลให้เกิดชีวิตใหม่ เป็นความอุดมสมบูรณ์ของครอบครัว เป็นลัทธิความเชื่อของชาวพื้นเมืองของมนุษย์ในสมัยโบราณก่อนที่อารยันจะเข้ามามีบทบาทในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  การรวมกันเพศ (androgynous) ของมหาเทพและเทวี  นอกจากศิวลึงค์แล้ว ยังมีรูปมนุษย์ในปาง “อรรธนารีศวร”  (Ardhanari sawa)  อีกด้วย

พิธีแต่งงานของพระศิวะและพระนางปารวตี
“อรรธนารีศวร” การรวมเพศของพระศิวะและนางปารวตี
 ตัวอย่างช่วงงานมหาศิวะราตรี  ซึ่งยังมีอีกหลายแห่งในรัฐต่างๆของอินเดีย

เล่าว่า สมัยสร้างจักรวาล พระพรหม ได้รับบัญชาให้สร้างมนุษยชาติ แต่พระผู้สร้างก็สร้างได้แต่เพศชาย ไม่อาจขยายเผ่าพันธุ์ได้ จึงบวงสรวงพระสทาศิวะ (Sada Shiva) ให้ช่วยแก้ปัญหานี้ พระสทาศิวะ จึงลูบอก บังเกิดเป็น “พระแม่ศักติศิวา” (Sakti Shiva)  ในรูปสตรี แล้วทรงหลอมรวมอยู่ในร่างเดียวกัน คนละซีก ซ้าย-ศิวะ , ขวา-ปาราวตี พระพรหมจึงรู้แจ้งในสติปัญญา กลับไปสร้างรูปสตรีเป็นกำลังเสริม และให้มนุษย์ชาย-หญิงได้สัมพันธ์ครองคู่กันจนมีลูกหลานมากมาย 

วันศิวะราตรีเป็นการเฉลิมฉลองการเสกสมรสของมหาเทพและเทวี วัดฮินดูในรัฐต่างๆ ของอินเดียจะตกแต่งด้วยแสงไฟ สร้างสีสันในเวลากลางคืน  มีคนที่มาร่วมในกิจกรรมนี้มากมายมหาศาล วันนี้เป็นวันหยุดของชาวอินเดีย , ศาสนสถานฮินดูทุกแห่งจะจัดงานนี้พร้อมกันทั้งโลก  พราหมณ์จะบูชาพระศิวะ ในรูปศิวลึงค์ ด้วยใบมะตูม (Bael Leaf) และอื่นๆ เช่น น้ำขมิ้น , น้ำผึ้ง , นมสด, น้ำบริสุทธิ์ , ผลไม้, ดอกไม้ ฯลฯ 

หลายเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “ศิวลึงค์” 

เรื่องเล่าเกี่ยวกับศิวลึงค์มีหลายเรื่อง  เช่น พระพรหม (สมัยนั้น มี 5 เศียร) กับพระวิษณุ ถกเถียงกันว่าใครใหญ่กว่า ! ก็บังเกิดเสาไฟต้นใหญ่แทงจากพื้นดินขึ้นสู่จุดสูงสุด เทพทั้งสองเกิดไอเดียต้องการหาจุดสิ้นสุดของต้นและปลาย ใครพบก่อนคนนั้นชนะ ! 

พระพรหมอวตารเป็นหงส์บินไปหาส่วนสูงสุดของเสาไฟ ส่วนพระวิษณุเป็นหมูป่า (วราหาวตาร lord Varaha) ขุดลงไปใต้ดิน ค้นหาหลายพันปี ทั้งสองกลับมาเจอกันอีกครั้ง พระวิษณุยอมแพ้ ! เพราะไม่เจอจุดกำเนิดของเสาต้นนี้ ส่วนพระพรหมก็อ้างเอาดอกไม้ชนิดหนึ่งที่เจอระหว่างทางเป็นพยานเท็จว่าพบยอดเสาแล้ว!  พระศิวะจึงอวตารเป็นพระกาลไภรวะ (ภาคดุร้าย) ลงโทษพระพรหมที่ไม่ซื่อสัตย์ด้วยการตัดเศียรที่ 5  จนเหลือ 4 เศียร (หน้า) อย่างทุกวันนี้ 

ความจริง เสาต้นนี้ก็คือ พลังงาน ที่ไม่มีต้นและปลาย ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นนิรันดร์ เป็นรูปหนึ่งของพระศิวะมหาเทพ นอกเหนือจากรูปมนุษย์ที่เรารู้จักกัน

อีกเรื่องหนึ่ง ผัว-เมียกำลังข้าวใหม่ปลามัน ! พระศิวะกับนางปราวตีกำลังรื่นเริง เมามาย เปลือยกายเล่นจ้ำจี้บนเขาไกรลาส เพลิดเพลินอยู่กับการสร้าง เหล่าเทวดาทั้งหลายจะมาเข้าเฝ้าก็เห็นภาพโล้ชิงช้าอันอุจาดตา จึงพากันตำหนิ พอเสร็จกิจ ทั้งสองพระองค์จึงละอายแก่ใจ อวตารในรูป “ศิวลึงค์และโยนิโทรณะ” คู่กัน ประกาศว่า ในกาลข้างหน้า รูปลักษณ์นี้ จะแทนเราและพระเทวี ให้ผู้คนได้กราบไหว้บูชา

ใครใหญ่ ! ค้นหาจุดเริ่มและสิ้นสุด “เสาไฟ” ของพระวิษณุและพระพรหมนับพันปี
ศิวลึงค์ทั้ง 12 แห่ง ตามความเชื่อของชาวฮินดู

ครั้งหนึ่ง เกิดภัยพิบัติในหมู่บ้านที่นับถือเจ้าแม่กาลี ชาวบ้านจึงคิดสร้าง องคชาติ อวัยวะเพศชาย มีทั้งไม้สลัก และดินปั้น ชาวบ้านต่างนำมาสังเวยบูชาเจ้าแม่กาลีให้เพลิดเพลินกับการสร้าง ระงับความโกรธ บังเอิญว่า โรคภัยต่างๆ ทุเลาเบาบางลง ซึ่งเชื่อกันว่า ต้องบูชาด้วยลึงค์มหาเสน่ห์นี่แหละ  ถูกใจเจ้าแม่ยิ่งนัก! 

ใบมะตูม
Vicky Kaushal (วิกกี้ เกาชาล) นักแสดงขอพร ก่อนหนัง Chhaava จะฉายเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โปรด “ใบมะตูม” ! 

ใบมะตูม เป็นสมุนไพรเก่าแก่ของอินเดีย จัดเป็นไม้มงคลในพิธีกรรมของศาสนาฮินดู เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ เพราะใบมะตูม 1 ใบ จะมีใบย่อย 3 แฉกเหมือนตรีศูล อาวุธคู่กายของพระศิวะ วัดฮินดูที่บูชาพระศิวะ และรูปศิวลึงค์  มักนิยมปลูกกัน ! 

การบูชาศิวลึงค์
การบูชาศิวลึงค์

มีเรื่องเล่าว่า คืนหนึ่ง นายพรานป่า ได้ใช้ต้นมะตูมเป็นที่พำนักยามค่ำคืน ไม่กล้านอนพื้นล่างเพราะเกรงกลัวสัตว์ป่าจะทำร้าย  คืนนั้นเขาต้องเผชิญกับอากาศที่หนาวเย็น และต้นมะตูมยังมีหนามตามกิ่งก้านอีกต่างหาก จึงก็เกิดอาการกระสับกระส่ายไม่เป็นสุขทั้งคืน ตกดึกยามพลิกตัว น้ำค้างบริสุทธิ์บนใบมะตูมก็หยดลงไปที่แท่นศิวลึงค์ที่อยู่ใต้ต้นมะตูมนั้น  วาระนั้น พระศิวะบนเขาไกรลาสได้รับรู้ และประทานพรให้นายพรานผู้นั้นพ้นจากบาปที่ล่าสัตว์มาตลอดชีวิต ! 

เหล่านี้เป็นเพียงเรื่องราวที่ Nai Mu นำมาเล่าต่อเกี่ยวข้องกับพระศิวะ และศิวลึงค์ ไว้ให้อ่านเล่นเพลินๆ อีกทั้งตามวัดฮินดูส่วนใหญ่ จะจัดให้ผู้ศรัทธาได้มีสรงสนานศิวลึงค์เพื่อความเป็นสิริมงคลกัน ! 

“โอม นมะ ศิวายะ” …. 

เรื่อง : โดยNai Mu

Exit mobile version