8 วิธี สำรวจตัวเองว่าเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า ทางการแพทย์ หมายถึง ภาวะซึมเศร้า ที่มีความรุนแรงมากกว่าอารมณ์เศร้าตามปกติ มีหลายสาเหตุ ถ้าไม่แน่ใจหรือหวั่นใจว่าตัวเองจะเป็นโรคนี้หรือไม่ คุณหมอแนะ 8 วิธีสำรวจตัวเองว่าเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
ดูเหมือนว่าโรคซึมเศร้า กำลังซึมลึกอยู่ในสังคมคนไทย ใครคิดว่าตัวเองเศร้า จิตใจหดหู่ ลองสำรวจตรึกตรองดูอีกที โดยอาการหลักที่พบทั่วไป มีลักษณะเช่น มักคิดว่าความสุขหายไป สาเหตุของโรคเกิดจากมีความผิดปกติในการหลั่งสารเคมีของสมองบริเวณส่วนของความคิด อารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรม พบได้ทั้งในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มพบได้ในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะผู้ที่มีความเครียดสูง ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายขาดได้ด้วยการใช้ยา หรือการใช้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัด
ความเครียด สาเหตุของ “โรคซึมเศร้า” ที่พบบ่อย
คำแนะนำจาก โรงพยาบาล Bangkok Mental Health Hospital (BMHH) ระบุว่า ความเครียดเป็นสาเหตุเบื้องต้นของโรคซึมเศร้า เมื่อความเครียดสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้เกิดโทษ ไม่เพียงเป็นโรคซึมเศร้า บางกรณีพัฒนากลายเป็นโรคจิตเวชอื่น ๆ ดังนั้นแพทย์แนะนำว่า ควรเริ่มสังเกตตัวเองทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ดังนี้
ทางกาย
1. พฤติกรรมการกินเปลี่ยน น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
2. การนอนผิดปกติ บางคนอาจจะมีการนอนไม่หลับแต่บางคนอาจจะนอนมากเกินกว่าปกติ
3. ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ปวดคอบ่าไหล่ อ่อนเพลีย ไม่สดชื่นเท่าปกติ
4. สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้ามากขึ้น
5. โรคประจำตัวเดิมอาจจะคุมได้ลำบากขึ้น เช่นความดันขึ้น
ทางอารมณ์
1. มีความกังวล รู้สึกเครียดตลอดเวลา
2. มีอาการซึม ๆ รู้สึกทุกข์ใจมากกว่าปกติ
3. อารมณ์หงุดหงิดมากผิดปกติ
4. มีความกระวนกระวายใจ ว้าวุ่นใจ
ทางความคิด
1. ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ หลงลืมมากกว่าปกติ
2. การตัดสินใจหรือการแก้ไขปัญหาแย่ลง
3. คิดฟุ้งซ่าน คิดหมกมุ่นในเรื่องอดีต
4. มีความคิดทำร้ายตนเอง คิดเรื่องตาย
หากมีอาการเหล่านี้หลายข้อ หรือครบทุกข้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ พึงระวังว่าคุณ กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า หรือสังเกตตัวเองด้วย 8 วิธีที่ตอบคำถามตัวเองเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อสำรวจตัวเองว่าเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า หรือไม่
- อ่อนแรง ไม่อยากทำอะไรเลย
- คิดเรื่องไม่อยากมีชีวิตอยู่บ่อยครั้ง
- นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากผิดปกติ
- รู้สึกเศร้า หรือหงุดหงิดตลอดทั้งวัน
- สมาธิลดลง ใจลอย มีปัญหาเรื่องการตัดสินใจ
- รู้สึกตัวเองไร้ค่า โทษตัวเองทุกเรื่อง
- น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ไม่ค่อยสนใจหรือไม่ค่อยมีความสุขต่อสิ่งรอบตัว
จำเป็นต้องปรึกษาและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจากแพทย์เฉพาะทาง เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้นและนำไปสู่การสูญเสียได้ ฉะนั้นการปล่อยให้มีอาการที่สะสมขึ้นเรื่อย ๆ อาจส่งผลเสียต่อชีวิต การดำเนินชีวิต รวมถึงคนรอบข้าง