ticycity.com Contents Voice Movement เศรษฐกิจ….เศษสตางค์
Movement Voice

เศรษฐกิจ….เศษสตางค์

เงินเหรียญ

ไม่มีใครชอบพกเหรียญ โดยเฉพาะเหรียญสลึง เหรียญ 50 สตางค์ หรือเหรียญบาทก็ยังไม่อยากได้ คำว่า ‘สิบสลึง’ หายไปจากสังคมไทย เด็กรุ่นใหม่น่าจะไม่รู้จักค่าเงินนี้แล้ว

การทำเหรียญย่อยๆ ออกมา หากนับมูลค่าตัวมันเองก็ไม่คุ้มทุนอีก ถ้ารัฐผลิตเหรียญ 1 สตางค์ ต้นทุนการผลิตอาจจะสูงไปถึง 20 สตางค์ ซึ่งทำให้เหรียญเหล่านี้หายไปจากระบบ ไม่มีใครอยากใช้

แต่การที่เงินหายไปจากระบบขั้นต่ำครั้งละ 24 สตางค์ เพราะเรายังมีหน่วย 25 สตางค์ใช้อยู่ คือการสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามหาศาล 

ผมไม่ใช่นักวิชาการ ไม่มีข้อมูลเป็นตัวเลขที่จับต้องได้ แต่มูลค่าสูงแน่นอน แค่เงินเศษๆ ที่แบงค์ปัดดอกเบี้ยต่างๆ ก็ทำให้เงินหายไปจากระบบในแต่ละวันไม่ใช่น้อยๆ

ยังไม่นับรวมการที่ต้องขึ้นราคาสินค้าเป็นหน่วยบาท ยุคนี้ไม่มีใครขึ้นราคาเป็นเศษสตางค์กันแล้ว ขืนขายของราคา 23.75 บาท คู่แข่งที่ขาย 25 บาทเอาไปกินหมด ใครอยากจะได้เงินทอน 1 บาทกะอีก 1 สลึงกันละ

ในทางกลับกัน ถ้าราคาสินค้ามีราคาปกติ 25 บาท แต่จ่ายผ่านแอปเป๋าตัง หรือดิจิตัลวัลเล็ต เหลือราคา 24.83 บาท มีตัวเลขเศษสตางค์แปลกๆ ที่ไม่เคยได้ใช้มาก่อนในชีวิต คุณว่ามีคนจะเลือกจ่ายผ่านแอปหรือไม่? 

เงินทุกบาททุกสตางค์ยังคงอยู่ในระบบไม่หายไปไหน ยังอยู่ในกระเป๋าเราเหมือนเดิม แต่ไม่ต้องพกเหรียญให้หนักกระเป๋า

สมัยก่อนตอนผมเด็กๆ ข้าวแกงโรงอาหาร 2 บาท ร้านอาหารข้างนอก 5 บาท ต่อมาขึ้นเป็น 8, 12, 15, 20 แล้วก็ข้ามไป 30, 40, 50 ถึงวันนี้ตัวเลข 60 เป็นตัวเลขที่เห็นได้ทั่วไป

ตัวเลขนี้บอกอะไร ขึ้นทีละ 10 บาท เหมือนไม่มาก แต่ถ้าเทียบเป็น % มันคืออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และค่าเงินที่อยู่ในบัญชีหรือในกระเป๋าตังค์ของเราก็จะโตตามไม่ทัน

ง่ายๆ แค่ข้าวแกงขึ้นจาก 50 เป็น 60 บาท ถ้าขึ้น 10% ก็ควรจะขายแค่ 55 บาท ซึ่งการขึ้นราคาสินค้าครั้งละ 10% ถือว่ารุนแรง และเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ในประเทศที่มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ จะต้องมีการประท้วง เสียงด่าจากประชาชน และไม่มีใครหน้าไหน พ่อค้าคนใดกล้าทำอะไรแบบนี้

รัฐต้องเข้ามาควบคุมการตั้งราคาสินค้า ให้สะท้อนไปกับต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่แก๊สขึ้นราคาถังละ 5% แต่ข้าวแกงขึ้นราคาตามทันที 20% แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นั้นไม่ถูกต้อง

การใช้ระบบเศรษฐกิจ เศษสตางค์ คือวิธีการที่จะช่วยให้สินค้าขึ้นราคาได้ช้าลง มีการแข่งขันในการตั้งราคากันมากขึ้น ข้าวแกงธงฟ้าควรจะ จานละ 48.67บาท จ่ายผ่านแอป จ่ายสดก็ 50 บาทเหมือนเดิม

โดยรัฐต้องสนับสนุนเรื่องภาษีให้กับร้านที่เข้าร่วมโครงการ ใครไม่เข้าร่วมคิดภาษีให้หนัก เอาแบบให้อยู่ไม่ได้ เพราะการทำภาพใหญ่แบบนี้ จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในระยะยาวอย่างแท้จริง 

ไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 บาท ขึ้นเป็น 6 บาท ขึ้นแค่บาทเดียวเอง แต่จริงๆมันคือขึ้นราคาที่รุนแรง สูงประมาณ 20%  เลยทีเดียว

สินค้าทุกอย่าง ของทุกสิ่งที่เราต้องจ่ายเงินออกไป  ควรจะขึ้นราคาแค่ครั้งละ 3-5% ตามอัตราเงินเฟ้อ ถ้าบะหมี่ห่อราคา 5.15 บาท กะราคา 6 บาท คุณจะเลือกซื้อซองไหนครับ 

ใครอยากได้ของราคาถูกกว่า ใช้เงินทุกสตางค์คุ้มๆ ก็จ่ายผ่านแอป ไม่ต้องผลิตเหรียญ 1 สตางค์ หรือเหรียญ 1 เยน แบบญี่ปุ่นหรอกครับ 

เรื่อง: ยูเก็น
(เกี่ยวกับผู้เขียนเจ้าของนามปากกา ยูเก็น  : หนุ่มใหญ่นักเดินทาง นักการตลาด ผ่านร้อนหนาวกับองค์กรระดับโลก ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี จีน อเมริกา มากว่า 30 ปี จะคอยเก็บสิ่งที่พบเห็น เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากการเดินทาง มาเล่าสู่กันฟัง ท่องเที่ยวบ้าง การตลาดบ้าง แล้วแต่โอกาสจะอำนวย)

Exit mobile version