ticycity.com Contents Voice Movement Olympic now belongs to ‘new generation’!
Movement Voice

Olympic now belongs to ‘new generation’!

Viral, Meme and ‘Instagramable’ Moment!

และแล้ว การแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก็ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางแสง สี เสียง และพิธีส่งมอบธงต่อให้กับเจ้าภาพครั้งถัดไป เมืองลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้ ‘ทอม ครูซ’ นักแสดงแอ็คชันชื่อดัง โหนตัวโรยลงมาจากสลิงที่สนาม Stade de France เพื่อรับมอบ ก่อนเดินทางไปยังประเทศบ้านเกิด เพื่อปักหมุดหมายการแข่งขันครั้งถัด ในปีสี่ปีข้างหน้า 

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การแข่งขันในปีนี้ มีความน่าตื่นเต้น มีเรื่องพลิกผัน มีดราม่า มีเหตุการณ์มากน้อยแตกต่างกันออกไปให้ได้ลุ้นกันในตลอดเวลา จนอดที่จะคิดไปไม่ได้ว่า โอลิมปิคในปี 2028 ที่เมืองลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา จะออกมาในลักษณะหรือรูปแบบใด 

แต่บางที…. เราอาจจะพอคาดเดาความเป็นไป รูปแบบ และ ‘อารมณ์’ ของโอลิมปิคครั้งถัดไปได้ไม่ยาก ถ้าเราสังเกตจากสิ่งละอันพันละน้อย และ ‘เทรนด์’ ที่เกิดขึ้นในการแข่งขันในครั้งนี้ 

แน่นอนว่า การแข่งขันโอลิมปิค การแข่งขันกีฬา ผลการตัดสิน และการเป็นเจ้าเหรียญของประเทศต่างๆ ยังคงเป็นสาระหลักที่ถูกให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ดูเหมือนว่า โอลิมปิคที่กรุงปารีสนี้ จะได้บ่งบอกถึงอารมณ์และสิ่งที่เปลี่ยนไปจากครั้งก่อนๆ อย่างเป็นที่สังเกตได้ 

กล่าวคือ …. มันมีความเป็น ‘ส่วนตัว’ ของนักกีฬาแต่ละคน ในช่วงเวลา และพื้นที่ ‘ส่วนตัว’ ที่ถูกแพร่กระจายในโลก Social Media แบบไวรัลกันมากขึ้น…. 

เพราะไม่ว่าจะตั้งแต่นักกีฬายิงปืนจากตุรเคียเหรียญเงินที่มาด้วยเสื้อผ้าอันแสนธรรมดา แต่มีท่วงท่าอันเด็ดขาดบาดใจ, นักกีฬาค้ำถ่อฝรั่งเศสชาย ที่พลาดเหรียญ เพราะ ‘ของลับ’ ของตัวเองไปเกี่ยวโดนคาน, นักกีฬาชายจากฮ่องกง ที่เล่นเอาล่อเอาเถิดกับชื่อตัวเองให้กลายเป็นคำพ้องสองแง่สองง่ามในจังหวะกล้องจับภาพให้กลายเป็น “มีม (Meme)” ราวกับเตรียมตัวเอาไว้เพื่อจังหวะนั้นโดยเฉพาะ หรือแม้แต่เรื่องปกิณกะปลีกย่อยอย่างนักกีฬาชาวนอร์เวย์ ที่ได้ฉายาว่าเป็น ‘มัฟฟินแมน’ เพราะถ่ายภาพลง Instagram ในอิริยาบถที่มาพร้อมกับ ‘ขนมมัฟฟินช็อคโกแล็ต’ จากโรงอาหารนักกีฬาแทบจะทุกภาพ จนกลายเป็นการบอกเล่าเรื่องราว (Storytelling) โดยกลายๆ และอีกมากมายที่มีลักษณะของการ ‘ช่วงชิงพื้นที่สื่อออนไลน์’ ในแบบ Social 

เหล่านี้ ดูแตกต่างอย่างมากกับโอลิมปิคในครั้งก่อนหน้า เมื่อโลกยังไม่ได้มีการแพร่หลายของสื่อ Social Media และการแสดงความอลังการของพิธีเปิด การชิงชัยของผลการแข่งขัน ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนต่างให้ความสนใจเป็นลำดับหลัก แต่มาในครั้งนี้ ถ้าหากไม่นับโอลิมปิคครั้งที่แล้วที่กรุงโตเกียว ที่ค่อนข้างเงียบเหงา อันเกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แล้วล่ะก็ …. 

มันดูราวกับว่าโอลิมปิคที่ปารีส ได้กลายเป็น ‘โอลิมปิคของเจเนอเรชันใหม่’ ไปแล้ว โดยสมบูรณ์แบบ!

อันที่จริง มันก็คงจะไม่น่าแปลกใจนัก ถ้าหากเราจะพิจารณาว่า อายุของเหล่านักกีฬาที่เข้าแข่งขันชิงชัยในโอลิมปิคครั้งนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นเด็กที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษใหม่ (อายุในช่วง 19-25 ปี เป็นขั้นต่ำ) 

พวกเขาคือคน ‘Gen Z’ ที่มีความคุ้นเคย ความเชี่ยวชาญ และมีความ ‘จัดเจน’ ในการเล่นกับสื่อออนไลน์สาย Social Media ได้เป็นอย่างดี และโลกในทุกวันนี้ ก็ขับเคลื่อนด้วยสื่อดังกล่าว จนเป็นที่เข้าใจกันได้ 

หรือแม้แต่พิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิค 2024 ของกรุงปารีสเอง ก็มีลักษณะของการจัดหมวดหมู่ให้ ‘กระจาย’ ความสนใจไปตามส่วนต่างๆ ของเมือง ไม่ได้กระจุกรวมอยู่ที่ใดที่หนึ่ง มีความหลากหลายของไฮไลท์ และให้มีลักษณะที่สามารถถ่ายรูปหรือวิดีโอ โพสต์ และแชร์ได้ ในแบบ ‘Instagramable’ 

ซึ่งแตกต่างจากครั้งก่อนๆ อย่างมีนัยสำคัญ…. 

และมันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าไม่ได้มาจากแนวคิด และมุมมองของคนที่อยู่ และคุ้นเคยกับโลกสมัยใหม่มาเป็นอย่างดี แล้วเช่นนี้ จะไม่อาจกล่าวว่านี่เป็นโอลิมปิคของ ‘คนรุ่นใหม่’ ได้อย่างไร 

เหลือเวลาอีกสี่ปี ที่การแข่งขันโอลิมปิค 2028 ที่เมืองลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา จะเปิดฉากอย่างเป็นทางการ มันคงเร็วไปที่จะสรุปว่ามันจะออกมาในรูปแบบใด หรือคาดเดาผลการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ แต่ถ้าพูดกันถึงอารมณ์และการเล่นพื้นที่สื่อแล้วล่ะก็ มันไม่ยากที่จะอนุมานจนเกินไปนัก 

ว่าโอลิมปิค ได้ก้าวเข้าสู่จิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่แล้ว อย่างเป็นทางการนั้นเอง

Exit mobile version