รอยยิ้มสดใส แต่ภายในใจซ่อนความเศร้า
ภาวะซึมเศร้า
เคยนึกสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่า ทำไมช่วงไม่กี่ปีมานี้ผู้คนเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น เป็นโรคที่เกิดขึ้นจริงหรือว่าคิดกันไปเอง หรือว่าเป็นโรคติดต่อ ???
จน Ticy City ไปอ่านเจอบทความทั้งจากของไทยและต่างชาติถึงโรคนี้ เลยทำให้รู้สึกว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ที่สำคัญยังมีผู้คนที่รู้จักโรคนี้อย่างเข้าใจไม่มากนัก รวมถึงบางคนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าโดยที่ตัวเองไม่ทราบ เพราะคิดว่าตัวเองอาจจะคิดมากไปนั่นเอง
ซึ่งหนึ่งในบทความที่ Ticy City อ่านมานั้น มีบทความชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ จนต้องนำมาเผยแพร่ต่อคุณผู้อ่าน โดยเป็นบทความจาก แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH- Bangkok Mental Health Hospital ในหัวข้อ “Smiling Depression” ความลับของรอยยิ้ม ความสดใส แต่ภายในใจอาจซ่อนความเศร้า
โดยในบทความคุณหมอได้เขียนถึงสังคมปัจจุบัน ที่ผู้คนมักเผชิญความกดดันและความเครียดมากมายเช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การทำงาน ทำให้หลายคนจึงเลือกสวมหน้ากากปกปิดอารมณ์ที่แท้จริง หนึ่งในหน้ากากที่พบได้บ่อยคือ “รอยยิ้ม” ที่แฝงไว้ด้วยความเศร้า หรือที่เรียกว่า “Smiling Depression”
Smiling depression คือคนที่ซึมเศร้า แต่จะแสดงออกภายนอกว่าร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ภายในจิตใจกลับรู้สึกเศร้าโศก หดหู่ ไร้ความสุข สิ้นหวัง คล้ายกับโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่สามารถเก็บซ่อนความรู้สึกไว้ได้อย่างแนบเนียน ซึ่งจะพบได้บ่อยในผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองต้องแสดงออกให้คนอื่นเห็นแต่ด้านที่ดีของตัวเองเท่านั้น กลัวว่าคนรอบข้างจะมองว่าตัวเองอ่อนแอหรือเป็นภาระ
สาเหตุของภาวะ Smiling depression
- ผู้ที่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist เมื่อประสบปัญหา คนกลุ่มนี้จึงเลือกที่จะแสดงออกว่ามีความเข้มแข็งมากกว่า
- ไม่ต้องการรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของผู้อื่น ไม่ต้องการให้ผู้อื่นต้องเป็นห่วงตัวเอง และบางครั้งยังต้องรับฟังปัญหาของผู้อื่นอีกด้วย
- มีความรับผิดชอบสูง ทั้งในหน้าที่การงาน ครอบครัว หรือกับสังคมรอบตัว จึงเลือกที่จะไม่แสดงออกความรู้สึกของตนเอง ที่จะกระทบผู้คนรอบข้าง
สัญญาณภาวะ Smiling depression
- ยิ้ม แต่สายตาดูไม่สดใส
- ดำเนินชีวิตได้ปกติแต่ข้างในรู้สึกเศร้า
- เป็นที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง ทุกคนคอยเข้าหาแต่ไม่ค่อยพูดเรื่องของตัวเอง
- ไม่อยากให้ตัวเองเป็นภาระ
- ไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองไม่สมบูรณ์แบบ หรือรู้สึกอ่อนแอ
- คาดหวังให้คนอื่นมีความสุขส่วนตัวเองเก็บความรู้สึกไว้
- นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
- รู้สึกตัวเองไร้ค่า สิ้นหวัง รู้สึกผิด หรือแม้กระทั่งมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่
- ไม่อยากทำอะไร อ่อนเพลีย หรือรู้สึกไม่สนใจ เพลินเพลิดกับกิจกรรมที่เคยชอบทำ
การรักษาภาวะ Smiling depression ประกอบไปด้วยการใช้ยาต้านซึมเศร้าและการบำบัดทางจิต
การใช้ยาต้านเศร้า จะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมกลับของสารสื่อประสาทบางชนิดในสมอง เช่น สารเซโรโทนิน และสารนอร์เอพิเนฟริน ยาต้านซึมเศร้ามักใช้ร่วมกับการให้คำปรึกษาและบำบัดทางจิต ระยะเวลาในการรักษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
การบำบัดอาการทางจิตเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จะเป็นผู้ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของอาการซึมเศร้า และเรียนรู้วิธีรับมือกับความรู้สึกของตัวเอง เช่น การบำบัดแบบจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ช่วยผู้ป่วยสำรวจความคิดและความรู้สึกที่ซ่อนเร้น, การบำบัดแบบพฤติกรรมทางปัญญา (Cognitive Behavioral Therapy, CBT) ช่วยผู้ป่วยเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ส่งผลต่ออารมณ์และการบำบัดกลุ่ม (Group therapy) ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
สำหรับการดูแลตัวเองเมื่อเป็น Smiling Depression ควรยอมรับความรู้สึกของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องฝืนยิ้มตลอดเวลา อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกเศร้า โกรธ หรือรู้สึกอะไรก็ได้, สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง พูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ ระบายความรู้สึกของตัวเอง ดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
Ticy City หวังว่าบทความนี้จาก แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน แต่เหนืออื่นใดทำจิตใจตัวเองให้สบาย ดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง หากเริ่มรู้สึถึงความไม่ปกติของตัวเอง ก็ควรไปพบจิตแพทย์ เพราะการพบจิตแพทย์ก็เหมือนกับการไปตรวจสุขภาพใจของเรา เพื่อให้ตัวเราเข้าใจสภาพจิตใจของตัวเองในขณะนั้น
#TicyCity #ตีซี้ชิตี้ #เมือง #City #Health #ซึมเศร้า #SmilingDepression #จิตแพทย์ #รอยยิ้ม