ticycity.com Contents Voice Movement ‘การพัฒนา’ และหนทางแห่ง ‘ความยั่งยืน’
Movement Voice

‘การพัฒนา’ และหนทางแห่ง ‘ความยั่งยืน’

สองเส้นที่ต้องบรรจบกัน เพื่อการเติบโตของเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

‘การพัฒนา’ คือสิ่งเกิดขึ้นกับทุกอย่าง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทุกแวดวง ในทุกภาคส่วน ความก้าวหน้าทางวิทยาการและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดการคิดใหม่ทำใหม่ สร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างไม่รู้จบ สิ่งเก่าถูกถางออก สิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ 

ในทางหนึ่ง มันเป็นวิถีที่พึงเกิด แต่ในอีกทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการพัฒนาที่ว่า เกิดขึ้นกับ ‘เมือง’ แล้วนั้น ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า สิ่งที่จะถูกรื้อออกไป หาใช่แต่เพียงตึกรามอาคารร้านตลาด แต่รวมถึง ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘ความทรงจำ’ ที่มันได้สั่งสม สืบทอดต่อเนื่องมา 

นั่นทำให้ ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ควบคู่กับการอนุรักษ์ เป็นทางอีกสายที่ถูกประเมินและให้คุณค่าเพื่อนำมาใช้มากขึ้นในเวลานี้ 

ในกรุงเทพมหานคร ย่านเก่าแก่ไม่ว่าจะเป็นทรงวาด เจริญกรุง เฟื่องนคร นาครเขษม ถูกให้คุณค่าในฐานะ ‘พื้นที่ทางประวัติศาสตร์’ มากขึ้น ตึกเก่าแก่อายุนับร้อยปี ที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงซากผ่านแห่งกาลเวลา กลับดูมีคุณค่าขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ 

นิทรรศการ การเยี่ยมชม จำนวนผู้คนที่พร้อมจะเข้ามาเสพสัมผัสบรรยากาศ และธุรกิจที่ดำเนินไปพร้อมกับความ ‘นอสทัลเจีย’ เหล่านี้ มีมากขึ้น และทางภาครัฐเองก็พร้อมตอบสนองต่อคลื่นแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าวอย่างเต็มตัว พยายามสร้างสีสันและคุณค่า เพิ่มเติมมูลค่า และมุ่งหมายที่จะสร้างหมุดหมายใหม่ ที่จะส่งผ่านไปยังช่วงเวลาถัดไปอย่างเต็มสามารถ

กระนั้นแล้ว การพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับพื้นที่เมืองเก่าในเขตกรุงเทพมหานคร ก็อาจจะต้องพิจารณาในมิติที่มากไปกว่าการเอาตึกเก่ามาตกแต่ง หรือจัดนิทรรศการให้จบเป็นครั้งคราวไป 

พิจารณาในแง่โครงสร้างนั้น การขยายตัวของเมืองเก่า จะมากน้อย มีส่วนที่เกิดอย่างไร้ทิศทาง มีบริเวณที่พูดเป็นภาษาที่น่าฟังคือ ‘Unseen’ แต่กลับเป็น ‘ซอกอับ’ และ ‘จุดตาย’ ที่ยังห่างไกลในด้านความปลอดภัยสำหรับผู้มาเยือน การขาดพื้นที่สีเขียว พื้นที่สันทนาการ และการสร้างพื้นที่ที่รองรับบุคคลผู้มีความหลากหลาย ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มันเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นไปอีก

ในแง่การสร้างมูลค่าใหม่ หลายครั้ง คุณค่าเดิมที่เป็นรากฐาน ถูกละเลย และพร้อมจะถูกกลบกลืนให้หายไปตามกระแสแลกาลเวลา การอนุรักษ์ให้วิถีเดิมยังคงอยู่ จึงเป็นอีกขาของการพัฒนาที่ต้องมองให้ครบถ้วนอย่างรอบด้าน 

วิถีชีวิตคนในพื้นที่ การมีส่วนร่วมต่อสิ่งที่ได้รับการพัฒนา และการยกระดับคุณภาพชีวิตก็เป็นส่วนสำคัญที่ไม่อาจละเลย มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าหากการพัฒนาย่านสมัยใหม่ เต็มไปด้วยร้านกินดื่มสุดคูล เดสทิเนชันของคนเมือง หรือเปลี่ยนชานเมืองเป็นย่านการศึกษา แต่ไม่สามารถไปกันได้กับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ก่อให้เกิดความไม่ลงรอย และความเหลื่อมล้ำที่ขยายถ่างความต่างระหว่างคนด้วยกันออกไป

เหนือสิ่งอื่นใด….. เมื่อมีการสร้างมูลค่าในพื้นที่เก่าแก่เหล่านี้ ย่อมผันตามมูลค่าของที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น การขยายตัวของเมืองใหม่ บริษัทห้างร้าน อาคารสำนักงาน ย่อมหมายตาพื้นที่แห่งนี้ รวมถึงคนในพื้นที่ ที่จะต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างการยืนหยัดอยู่อย่างเก่าก่อน หรือรับเงินก้อน แล้วปล่อยให้ ‘สิ่งใหม่’ เข้ามาสร้างความหมาย เปลี่ยนแปลงบริบทของพื้นที่ในอนาคตภายภาคหน้า 

ซึ่งหลายครั้ง มักจะจบลงด้วยการ ‘ถางความทรงจำทิ้ง’ เปลี่ยนแปลงไปอย่างหมดรูป ไม่เหลือร่องรอยใดๆ ให้ระลึกถึง ไม่สามารถสืบค้นประวัติความเป็นมา ไม่เชื่อมโยงกับคนระหว่างรุ่น ปราศจากซึ่งความหมายในการดำรงอยู่

และแน่นอนว่าการอนุรักษ์และพัฒนา มีค่าใช้จ่าย และมันจึงกลายเป็นคำถามสำคัญที่ประชาชนผู้เสียภาษีต่างกังขา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องตอบให้ได้ว่า ความคุ้มค่าของการ ‘อนุรักษ์’ พื้นที่เก่าแก่เหล่านี้ให้คงอยู่ มันให้อะไรตอบแทนกลับมาอย่างเป็นรูปธรรม 

เวลานี้คือหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญอย่างยิ่ง ที่การพัฒนาเมืองเก่า จะถึงจุดที่จะต้องตอบให้ได้ว่า จะเดินหน้าไปในทิศทางใด ภายใต้การกำกับร่วมกันของภาครัฐ และคนในพื้นที่ ที่ต้องทำงานประสานกันในทุกขั้นตอน 

จะยังคงเป็นพื้นที่เก่าที่สืบสานตำนานและประวัติศาสตร์ให้บอกเล่าขานกันต่อไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือเพียงแต่เป็นการ ‘ซื้อเวลา’ ก่อนที่ ‘การพัฒนา’ อย่างสิ้นเชิง จะเกิดขึ้น และไม่เหลือร่องรอยของสิ่งใดให้จดจำ 

นี่คือเรื่องของ ‘เมือง’ ที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน ไม่ว่าผลลัพธ์สุดท้าย จะออกมาอย่างไรก็ตาม

Exit mobile version