ticycity.com Contents Voice Movement “เมืองเป็นอย่างไรคนก็เป็นอย่างนั้น คนเป็นอย่างไรเมืองก็เป็นอย่างนั้น”
Movement Voice

“เมืองเป็นอย่างไรคนก็เป็นอย่างนั้น คนเป็นอย่างไรเมืองก็เป็นอย่างนั้น”

Melting pot people walking on zebra crossing and traffic jam on 7th avenue in Manhattan before sunset - Crowded streets of New York City during rush hour in urban business area

ประโยคนี้ผมเขียนไว้เป็นแนวคิดตอนที่รับทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ (curator) ให้งานนิทรรศการศิลปะ Street Art “ติดศิลป์บนราชบุรี2 : We are the City”  เมื่อปีพ.ศ. 2556 ที่จังหวัดราชบุรี

เมืองที่สวยงาม สุนทรีย์ เกิดจากผู้อยู่อาศัยที่เป็นแบบนั้น เมืองเน่าๆ สกปรกรกรุงรัง ก็เกิดจากคนแบบนั้นที่อาศัยหรือใช้ชีวิตอยู่

สิ่งต่างๆ ที่คนสร้างขึ้นมาในเมือง เช่นสถาปัตยกรรมทั้งหลายแหล่ หากถูกสร้างขึ้นโดยใช้ความสุนทรีย์ ใช้ความคิด เหมาะสมลงตัว มีความสวยงามมันก็คือศิลปะ แต่ถ้าเป็นไปในทางตรงกันข้าม ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่ามอง จะหาความสุนทรีย์ก็ไม่มี แล้วเมืองจะดูดีได้อย่างไร และสิ่งเหล่านั่นเองก็สะท้อนถึงคนที่อยู่ในเมืองนั้นๆ ด้วย

ศิลปะอยู่คู่กับเมืองเกือบทุกเมืองมาตั้งแต่โบราณแล้วนะครับผมว่า ตัวอย่างง่ายๆก็ “วัด” นั่นยังไง สำหรับของพวกต่างชาติก็มีทั้ง โบสถ์ วิหาร สุเหร่า หรือปราสาท ราชวัง อนุสาวรีย์ต่างๆ 

อย่างวัดของบ้านเราตัวสถาปัตยกรรมโบสถ์ด้านนอกก็มีทั้งลวดลายปูน ทั้งกระจก บางแห่งก็มีไม้แกะ ส่วนด้านในบางแห่งก็มีจิตรกรรมฝาผนังอีก ทั้งหมดล้วนเป็นศิลปะทั้งนั้น  ซึ่งในบางจังหวัดมีวัดเยอะมากๆ โดยเฉพาะทางภาคอีสาน

Top view crowd of people walk on business street pedestrian in city

นั่นแสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนไทยแต่โบราณก็ใกล้วัดนะ แต่เราไม่ใกล้ “ศิลปะ” ในแง่ทัศนศิลป์ เพราะเราไปวัดกันด้วยความศรัทธาในศาสนา เราไปเสพบุญกันมากกว่าเสพศิลป์

ยกตัวอย่างกันนะครับ ถ้าเราไปจังหวัดพิษณุโลก  จุดหมายที่ต้องไปก็คือต้องไปกราบไหว้พระพุทธชินราชกันใช่ไหมครับ  มีใครสนใจหรือไหมว่าองค์พระพุทธชินราช เป็นศิลปะสมัยไหน?  สร้างขึ้นเมื่อไหร่? ปางอะไร? หากจะมีก็คงส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่จะไปกราบขอพรให้โชคดี ประสบความสำเร็จ หายจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่ไม่ได้มีเจตนาไปชมความงามของพระพุทธรูปหรือโบสถ์กันเลย

หลายปีที่ผ่านมานี้บ้านเราเต็มไปด้วยงานศิลปะ โดยเฉพาะงาน Graffiti ( กราฟฟิตี้) ซึ่งเป็นที่นิยมมากๆ แม้แต่แบรนด์สินค้าดังๆ ก็ยังร่วมงานกับ Graffiti Artist นั่นยิ่งทำให้กระแสยิ่งแรงขึ้นไปอีก จนกลายเป็นเทรนด์ แพร่กระจายเข้าถึงทุกตรอกซอกซอย ไปที่ไหนก็ต้องเห็นกราฟิตี้ไม่เว้นแม้แต่ผนังในร้านรวงต่างๆ  แม้แต่นั่งอยู่บ้านก็ยังเห็นเลย ยิ่งถ้าคุณกำลังไถหน้าจอมือถือส่องชาวบ้านอยู่ก็จะยิ่งเห็น นั่นแสดงให้เห็นว่าคนไม่ต้องไปหอศิลป์หรือแกลเลอรี่ก็มีงานศิลปะให้ชม ให้ถ่ายภาพไปอวดในโซเชี่ยลฯ

นั่นหมายถึงว่า…วันนี้มาถึงยุคที่คนไทยหันมาสนใจศิลปะกันมากขึ้น มีงานที่ไหนเก๋ๆ ต้องไปเช็คอินถ่ายภาพที่นั่นที่นี่ ส่งผลทำให้พื้นที่ซึ่งมีงานศิลปะคึกคักขึ้น เศรษฐกิจบริเวณนั้น ย่านนั้นก็ดีขึ้นไปเองโดยอัตโนมัติ  และแม้แต่คนในพื้นที่เองจากที่เคยมีภาพลบเพราะมองว่ามันดูเลอะเทอะสกปรก (หมายถึงGraffiti นะ) ก็เริ่มเปลี่ยนความคิดว่า “เออ!!ก็ดีเหมือนกันนะ ” อย่างน้อยร้านฉันก็ขายของดีขึ้น เพราะมีคนมาดู มาเดิน หรือไม่ก็จากที่ไม่เคยเปิดร้านขายของก็เปิดร้านรองรับนักชมงานศิลปะไปซะเลย 

บรรดาร้านรวงต่างๆ ,คาเฟ่เก๋ๆ  เท่ๆ มีความเป็น “ศิลปะ” ก็ตามมา ทำให้หน้าตาเมืองก็สวยขึ้น มีสีสัน ตื่นตาตื่นใจ มีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที

ทีนี้พอเมืองดูดีขึ้นมาอย่างน้อยก็ในเรื่องของทัศนียภาพของเมือง บวกกับมีกิจกรรมให้ได้ผ่อนคลาย สุขภาพจิตของประชากรในเมืองก็จะดีขึ้น คนก็จะมีความสุขมากขึ้นตามมาด้วย

ศิลปะกับเมืองมันควรพัฒนาไปด้วยกัน

“คนในเมืองมีความสุข ก็กลายเป็นเมืองที่มีความสุข เมืองที่มีความสุขก็ทำให้คนที่อยู่ในเมืองมีความสุข”.…นั่นแหละ!!

(ย่อหน้าสุดท้ายนี่ผมคิดของผมเองนะ ๕๕๕๕)

เรื่อง : สุรพร เลิศวงศ์ไพฑูรย์ 

นักสร้างสรรค์ศิลปะ / นักโฆษณา / อาจาร์พิเศษ

Exit mobile version