ไปรษณีย์ไทย ชวนชม งานแสดงตราไปรษณียากร และ นิทรรศการแสตมป์โลก เผย ‘โมนาลิซาแห่งแสตมป์’ ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก
โมนาลิซาแห่งแสตมป์ – แพงที่สุดในโลก
The British Guiana 1c magenta หรือชื่อไทยว่า แสตมป์สีม่วงแดง 1 เซ็นต์ บริติช กีอานา เปรียบได้กับโมนาลิซาแห่งวงการแสตมป์ ดวงตราไปรษณียากรที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ด้วยสถิติราคา 8,307,000 USD หรือราว 300 ล้านบาท และมีเหลืออยู่เพียงดวงเดียวในโลกมาจัดแสดงที่งาน POSTiverse 140 ปี ไปรษณีย์ไทย และงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566
แสตมป์แพงที่ว่านี้ถือกำเนิดขึ้นที่บริติช กีอานา ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ พิมพ์ที่สำนักงานราชกิจจานุเบกษาในจอร์จทาวน์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณานิคมในยุคนั้น ออกมาแบบหยาบ ๆ ด้วยวิธีการพิมพ์แบบง่าย ๆ ทำให้ในยุคนั้นจำเป็นต้องหาวิธีป้องกันการปลอมแปลงด้วยการให้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เซ็นชื่อแบบย่อลงบนดวงแสตมป์ ก่อนจะนำออกมาใช้งานในอัตราค่าฝากส่งสำหรับ 1 เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราค่าฝากส่งสำหรับหนังสือพิมพ์ที่ฝากส่งภายในเมืองเท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้แสตมป์ดวงนี้มีความหายาก และเหลืออยู่เพียงดวงเดียว เพราะว่าในยุคนั้นไม่มีใครคิดเก็บแสตมป์ที่ติดอยู่บนหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่อ่านแล้วก็จะทิ้งหรือถูกทำลายไปตามกาลเวลานั่นเอง
แสตมป์ชิ้นนี้ ค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1873 โดยเด็กชายชาวสก็อตอายุ 12 ปี จากนั้นเด็กชายคนเดียวกันก็นำขายออกไปในราคา 6 ชิลลิ่ง เพราะเขามีความเชื่อว่าน่าจะหาดวงใหม่ที่มีสภาพที่ดีกว่านี้ได้อีก
อย่างไรก็ตามแสตมป์ดวงนี้ยังมีประวัติการนำออกขายต่อ ๆ กันมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนถึง 12 ครั้ง และราคาครั้งสุดท้าย ซื้อโดยบริษัท สแตนลีย์ กิบบอนส์ จำกัด ประเทศอังกฤษ ในราคา 8,307,000 USD เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2021
แสตมป์ที่แพงที่สุดในเอเชีย แสตมป์ตลก
ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในอัญมณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนักสะสมแสตมป์ทั่วโลก และเป็นแสตมป์ที่แพงที่สุดของเอเชีย โดยแสตมป์ชิ้นนี้มีชื่อว่า แสตมป์มังกร 500 Mon เป็นแสตมป์จากประเทศญี่ปุ่นที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1871 ซึ่งเป็นแสตมป์ที่พิมพ์กลับหัว! ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นตัวตลกแห่งวงการแสตมป์ แต่กลับมีมูลค่าสูงถึง 200 ล้านบาท จากเดิมในวันออกจำหน่ายมีราคาเพียง 500 Mon เท่านั้น วันนี้ไปรษณีย์ไทยจึงจะขอชวนทุกคนมาไขความลับกันว่าเหตุใด ทำไมแสตมป์ชิ้นนี้ถึงเป็นที่สนใจจากนักสะสมทั่วโลก
แสตมป์มังกร 500 Mon เป็นแสตมป์สีเทาอมเขียว พิมพ์ครั้งแรกวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1871 ความพิเศษเกิดจากความผิดพลาดในการพิมพ์ราคาบริเวณกลางดวงแสตมป์ ที่พิมพ์กลับหัวด้วยหมึกสีดำ
แสตมป์ชิ้นนี้ค้นพบในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1953 – 1973 โดย จอห์น ซี. ลินสลีย์ นักสะสมชาวอเมริกัน ซึ่งค้นพบอยู่ในคอลเลคชั่นญี่ปุ่นที่เขาได้รับมา หลังจากนั้นลูกเลี้ยงของเขาได้ส่งแสตมป์ดวงดังกล่าวมาขอออกใบรับรองจากสมาคมตราไปรษณียากรแห่งประเทศญี่ปุ่น (I.S.P.) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ คือ ดร.วาร์โร อี ไทเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแสตมป์ผู้ออกใบรับรอง และผู้เชี่ยวชาญอีกท่าน ดร.ทานิ ทาคาชิ ให้ผลสรุปออกมาว่าแสตมป์ดวงดังกล่าวเป็นของแท้อย่างแน่นอน แต่น่าเสียดายที่ใบรับรองดังกล่าวได้สูญหายไปแล้ว แต่ที่บริเวณด้านหลังของดวงแสตมป์ มุมขวาล่างมีลายเซ็นด้วยดินสอคำว่า “ไทเลอร์” ซึ่งเป็นลายเซ็นของ ดร.วาร์โร อี. ไทเลอร์ อยู่ด้วย
ปัจจุบันแสตมป์ดวงนี้ได้รับใบรับรองใหม่อีกครั้ง โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของสหพันธ์ตราไปรษณียากรแห่งประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 2011 และ ฟลอเรียน ไอค์ฮอร์น บีพีพี ในปี ค.ศ. 2023 และนำมาออกประมูลโดย บริษัท เดวิส เฟลด์แมน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
โดยประมูลไปเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.2023 ในราคา 4,400,000 ยูโร หากตีเป็นเงินไทยมีมูลค่าราว 200 ล้านบาท
แสตมป์จากนักออกแบบไทย
4 นักออกแบบแฟชั่นไทย ได้แก่ ยูน – ปัณพัท เตชเมธากุล, ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์, ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง และ จักรกฤษณ์ อนันตกุล ร่วมรังสรรค์แสตมป์ที่ระลึกชุด 140 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย ชุด 2 คอลเลคชั่นพิเศษที่ผสมผสานความเป็นลักซ์ชัวรี่และความคลาสสิก สะท้อน 4 เรื่องราวเป็นความไปรษณีย์ไทย ที่มีความหมายแตกต่างกัน
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บอกว่า ด้วยกระแสความนิยมศิลปินและนักออกแบบไทยได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง จากภาพสะท้อนการก้าวสู่เวทีระดับโลก และจากรางวัลที่ได้รับต่าง ๆ ทำให้มูลค่าของผลงานศิลปิน การพัฒนาโปรดักส์ร่วมกับแบรนด์สินค้า ภายใต้คอลเลคชั่นพิเศษได้รับความสนใจมากขึ้น สามารถตีตลาดผู้บริโภคในต่างประเทผสได้ อีกทั้งสามารถต่อยอดให้เกิดมูลค่าตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์
แรงบันดาลใจจากนักออกแบบไทยสู่แสตมป์ไทย
ยูน – ปัณพัท เตชเมธากุล เป็นภาพอรุณเทพบุตรและเหล่าผีเสื้อ เพื่อสื่อถึงก้าวต่อไปในการพัฒนาที่สว่างไสวของไปรษณีย์ไทย ในวาระครบรอบ 140 ปี ที่พร้อมทำหน้าที่เป็นผู้บริการรับและนำส่งสาร ด้วยความเที่ยงตรงและแม่นยำในทุก ๆ วัน
ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ เป็นภาพกึ่งภาพพิมพ์ Typography เลขไทย ๑๔o ที่มีองค์ประกอบต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับไปรษณีย์ไทย กลมกลืนกับความสวยงามของสถาปัตยกรรมอาคารไปรษณีย์กลาง
ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง นำความหลากหลายของภาพบนแสตมป์และงานอดิเรกจากการเขียนจดหมาย อันเป็นตัวแทนของความคิดถึง ความห่วงใย ความหวังดี ความรักของผู้ส่ง และความดีใจของผู้ได้รับ สะท้อนถึงความรู้สึกดี ๆ ที่ได้รับในวัยเด็ก
จักรกฤษณ์ อนันตกุล ถ่ายทอดบรรยากาศความทรงจำเกี่ยวกับการส่งและรับจดหมายจากคนไทยหลากหลายอาชีพ และคนที่ส่งจดหมายมีเรื่องราวในช่วงเวลาต่าง ๆ ความสุขของบุรุษไปรษณีย์ที่ปั่นจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ สื่อถึงความสุขของคนไทย พร้อมภาพตึกที่มีรายละเอียดความเป็นไทย
แสตมป์จากนักออกแบบไทย จำหน่ายดวงละ 35 บาท ในรูปแบบ Booklet
ชมเรื่องราวของแสตมป์ในงาน POSTiverse 140 ปี ไปรษณีย์ไทย และนิทรรศการแสตมป์โลก 2566
วันนี้ถึง 3 ธันวาคม 2566 ณ ไปรษณีย์กลาง บางรัก ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.thailandpost.co.th, FB: บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด