ticycity.com Contents Destination Travel เที่ยวย้อนรอยกรุงธนบุรี พระราชวังเดิม “แผ่นดินผืนนี้มีความหลัง” 
Destination Travel

เที่ยวย้อนรอยกรุงธนบุรี พระราชวังเดิม “แผ่นดินผืนนี้มีความหลัง” 

เมืองเก่า

ปลายปีนี้หากยังไม่มีแพลนไปเที่ยวไหนละก็ Ticy Ticy  ขอแนะนำ  ไปสัมผัสสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไทยกันกับการ เที่ยวย้อนรอยกรุงธนบุรี พระราชวังเดิม “แผ่นดินผืนนี้มีความหลัง” พระราชวังหลวงในแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราช … บอกได้เลยว่าโอกาสแบบนี้ไม่ได้มีมาบ่อยๆ 

โดยเฉพาะในโอกาสพิเศษเพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้แห่งองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทรงกำหนด “วันปราบดาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร “ ในวัน 28 ธันวาคม พ.ศ. 2530   ดังนั้นทุกวันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีจึง นับเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยในปีนี้ ครบ 256 ปี  แห่งการสถาปนากรุงธนบุรี   ไม่มีท่าน ไม่มีเรา ไม่มีเงา ไม่มีแผ่นดิน  อยู่ถึงทุกวันนี้

สำหรับการเปิด “พระราชวังเดิม” ให้เข้าชมนั้น ทางมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานภายในพระราชวังเดิม ร่วมกับ กองบัญชาการกองทัพเรือ เปิด“ให้เข้าชมฟรี “ ตั้งแต่วันที่ 16-28 ธันวาคม 2566 รวม 13 วัน

ทำความรู้้จักพระราชวังเดิม 

สำหรับ พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิม เป็นพระราชวังหลวงในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ด้วยมีป้อมปราการที่มั่นคง สามารถมองสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล และอยู่ใกล้กับเส้นทางเดินเรือในสมัยนั้น

ความสำคัญอีกประการ คือ พระราชวังเดิมเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ ทั้ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภายในพระราชวังเดิมมีโบราณสถานที่สำคัญมากมาย ได้แก่ 

ท้องพระโรง : หรือ วินิจฉัย เป็นพระที่นั่งองค์ทิศเหนือ  ใช้เป็นที่เสด็จออกขุนทาง และประกอบพระราชพิธีสำคัญ  มีลักษณะคล้ายศาลากว้างๆ ยกพื้นด้วยการก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาประดับตกแต่งด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

พระที่นั่งขวาง : พระวิมานที่ประทับ หรือ ส่วนราชมณเฑียร เป็นพระที่นั่งองค์ทิศใต้ ต่อเชื่อมพื้นที่กับส่วนท้องพระโรงมาทางทิศใต้  ในส่วนพระที่นั่งขวางนี้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ภายในพระที่นั่งขวางแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ ห้องโถงกลาง เฉลียงด้านทิศเหนือ และเฉลียงด้านทิศใต้ 

พระตำหนักเก๋งคู ่: ประกอบไปด้วย ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1- 2  รูปแบบของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน และได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงประตูหน้าต่างให้เข้ากับสภาพอากาศ

ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรง พระอิศริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในระหว่างปี พ.ศ.2367 – 2394 โดยมีพระดำริให้สร้างขึ้นพร้อมกับการปรับปรุงอาคารตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กที่มีมาแต่เดิม

พระตำหนักเก๋งพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งยังทรงดำรง พระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และประทับที่พระราชวังเดิมในระหว่างปี พ.ศ.2367 – 2394  ตัวอาคารมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ตะวันตก หรือเรียกว่า”ตึกแบบอเมริกัน” และนับได้ว่าเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงค์ชั้นสูงที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสไตล์ตะวันตกหลังแรกๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของตำหนักเก๋งคู่ โดยประชิดกำแพงด้านทิศตะวันออกของพระราชวัง ภายในศาล เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในท่าประทับยืนและทรงพระแสงดาบ สร้างขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีกรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิมในระหว่างปี พ.ศ.2424 – 2443

อาคารเรือนเขียว

เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาของการปรับปรุงพระราชวังเดิมให้เป็นโรงเรียนนายเรือ และได้ใช้อาคารหลังนี้เป็นสถานพยาบาลของโรงเรียนนายเรือ เดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงจำนวน 2 หลัง ตั้งอยู่บริเวณ “เขาดิน” ซึ่งเป็นเนินดินตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ภายในเขตกำแพงชั้นในของพระราชวังเดิม 

ศาลศีรษะปลาวาฬ 

รูปแบบของอาคารหลังปัจจุบันนี้ทางมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมได้ปรึกษากับกรมศิลปากร และเห็นชอบให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2542 บนฐานของศาลหลังเดิมที่ได้ขุดพบเพื่อใช้เป็นที่ จัดแสดงกระดูกศีรษะปลาวาฬ  (ที่ได้พบอยู่ใต้ถุนศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในคราวสำรวจพื้นที่ทางโบราณคดีในช่วงการบูรณะครั้งล่าสุด)  โดยมีรูปแบบประยุกต์ให้เหมาะสมกับอาคารโบราณสถานโดยรอบโดยแต่ยังคงรูปแบบเป็นเก๋งจีน 

สำหรับศาลศีรษะปลาวาฬนี้ถูกค้นพบในระหว่างการขุดสำรวจครั้งล่าสุด โดยมีลักษณะของฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณพื้นที่ระหว่างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางเอกสารประกอบแล้วจึงสันนิษฐานว่าเป็นซากของอาคารศาลศีรษะปลาวาฬ ซึ่งเดิมทีศาลแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้พังลงในคืนวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2443 ซึ่งเป็นคืนที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีกรมพระจักรพรรดิพงศ์สิ้นพระชนม์ รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารหลังเดิมตามที่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นอาคารโถงแบบจีน 

ป้อมวิไชยประสิทธิ์

เป็นป้อมปราการริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เดิมมีชื่อว่า “ป้อมวิไชยเยนทร์” หรือ “ป้อมบางกอก” โดยสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์กราบบังคมทูลแนะนำให้สร้างขึ้นพร้อมป้อมทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนา กรุงธนบุรีเป็นราชธานีได้ทรงสร้างพระราชวังในบริเวณป้อมแห่งนี้พร้อมกับปรับปรุงป้อม และพระราชทานนามใหม่ว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” ปัจจุบันใช้เป็นที่ยิงสลุตในพิธีสำคัญต่างๆ และติดตั้งเสาธงเพื่อประดับธงราชนาวี และธงผู้บัญชาการทหารเรือ

ซึ่งปัจจุบันพระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิม นี้คือสถานที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ และโดยปรกติจะต้องมาเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ และต้องทำหนังสือขออนุญาตเยี่ยมชมล่วงหน้า 1 -2 สัปดาห์ และมีค่าบำรุงสถานที่ ผู้ใหญ่คนละ  100 .- บาท และ เด็ก 50 .-บาท

การเปิด “พระราชวังเดิม” มีรายละเอียดดังนี้

วันที่เปิดให้เข้าชมฟรี  : ตั้งแต่วันที่ 16-28 ธันวาคม 2566

เวลาการเปิดเข้าชม  : ตั้งแต่เวลา 09.00-15.30 น.

ทั้งนี้สามารถเข้าออกได้ 2 ทาง โดยไม่ต้องแลกบัตรผ่านเข้า – ออก คือ

  • ทางเข้าด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ 
  • ประตูด้านข้างกำแพงวัดอรุณ

ข้อควรทราบเรื่องกฎระเบียบในการเข้าชม “พระราชวังเดิม”

  • คนไทยเข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • ไม่ต้องทำเรื่องขออนุญาตล่วงหน้า 
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่อนุญาตให้เข้าชมตามลำพัง ต้องมีคนไทยหรือไกด์พาเข้าชม เนื่องจากเป็น สถานที่ราชการ 
  • การแต่งกาย  :  สุภาพบุรุษ ควรสวมเสื้อมีแขน และกางเกงขายาว สุภาพสตรี ควรสวมเสื้อมีแขน กระโปรงคลุมเข่า หรือกางเกงขายาว 
  • ห้ามใส่กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น รองเท้าแตะ 
  • ไม่อนุญาตให้บันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายรูป/ กล้องวีดีโอ /โทรศัพท์มือถือภายในอาคารทุกอาคารเด็ดขาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางมูลนิธิฯ

การเดินทางไป “พระราชวังเดิม”

รถโดยสารประจำทาง : สาย 57 

รถยนต์ส่วนบุคคล : สามารถนำรถเข้ามาจอดภายในพระราชวังเดิม กองบัญชาการ กองทัพเรือ ได้เฉพาะวัน เสาร์-วันอาทิตย์

วันจันทร์-วันศุกร์ ต้องนำรถไปจอดรอบนอก เช่น วัดโมลีโลกยาราม, วัดหงส์รัตนาราม, วัดเครือวัลย์  โดยเสียค่าบำรุงสถานที่วัด  30 บาทต่อคัน

รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT : ลงสถานีอิสรภาพ ทางออกซอยอิสรภาพ 34 จากสถานีเดินเลี้ยวขวามาจนเจอสามแยก โพธิ์สามต้น เลี้ยวขวาเดินตรงไป ประมาณ 10 – 15 นาที จะเจอกองบัญชาการกองทัพเรือ หรือหากไม่ต้องการเดินก็ต่อวินมอเตอร์ไซต์รับจ้างได้ 

เรือโดยสารข้ามฝาก : ท่าเตียน – ท่าวัดอรุณราชวราราม เดินตรงมาประตูด้านข้างกำแพงวัดอรุณ แล้วเดิน เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจนมาถึง ประตูสามสมอ มองไปทางซ้ายมือ รับชมมัลติมีเดีย         ประวัติพระราชวังเดิม (อาคารเรือนเขียวฉายเป็นรอบๆ ตามประกาศประชาสัมพันธ์ตาม ตารางว่ารอบไหนบ้างหน้างาน แล้วเดินตามแผ่นพับ ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถาม เจ้าหน้าที่ตามจุดต่างๆ

รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร : 0 2475 4117, 0 2472 7291 (ตามวันเวลาราชการ) 

หรือ  https://www.facebook.com/wangdermpalace?mibextid=LQQJ4d 

(FB : มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม)

#TicyCity #ตีซี้ชิตี้ #เมือง #พระราชวังเดิม #พระเจ้าตากสิน #แผ่นดินนี้มีความหลัง #กรุงธนบุรี #ฟรี

Exit mobile version