ดาราลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์ ญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์ พาเยี่ยมชมฟาร์มแซลมอนนอร์เวย์ ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการประมงอย่างยั่งยืน
ญาญ่า – อุรัสยา เสปอร์บันด์ นักแสดงลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์ และพรีเซนเตอร์คนแรกของ Seafood from Norway ในประเทศไทย พาเยี่ยมชมฟาร์มแซลมอนแบบดั้งเดิมและในมหาสมุทร ที่สะท้อนถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการประมงแบบยั่งยืน
ที่เมืองเวสเตอโรลน์ ประเทศนอร์เวย์ ในแคมเปญ The Story from the North
ประเทศนอร์เวย์ ขึ้นชื่อว่ามีสภาพภูมิอากาศที่หนาวเหน็บและทรหด ยากต่อการอยู่อาศัยของผู้คน แต่กลับกลายเป็นสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบสำหรับปลา นี่คือเหตุผลว่าทำไมนอร์เวย์ถึงดำรงชีพด้วยการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่และยั่งยืนที่สุดในโลก
วันนี้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของอุตสาหกรรมการประมงของนอร์เวย์ ประเทศแห่งอาหารทะเลนี้ยึดหลักจริยธรรม ความเชี่ยวชาญทางชีววิทยาทางทะเลที่สั่งสมมา เทคโนโลยีล้ำสมัย และมาตรการที่เข้มงวด เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารและอนาคตของอุตสาหกรรม โดยที่ยังสงวนไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
การใช้นวัตกรรมเพาะเลี้ยงและดูแลแซลมอน
ที่นอร์เวย์ ฟาร์มเลี้ยงปลาตั้งอยู่ในทะเลเปิด รายล้อมด้วยน้ำทะเลที่เย็นและใสสะอาดในน่านน้ำที่ไหลมาจากธารน้ำแข็งฟยอร์ด ห่างไกลจากพื้นที่สัญจรทางทะเล วัตถุดิบส่งออกยอดนิยมอย่างแซลมอน เลี้ยงในกระชังที่มีพื้นที่กว้างขวาง ให้ปลาได้ว่ายน้ำและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่สะอาด เปรียบเทียบได้กับพื้นที่น้ำ 97.5% ต่อปริมาณแซลมอน 2.5% ในทุก ๆ กระชัง
และใช้นวัตกรรม เช่น เลเซอร์ที่ควบคุมโดยเทคโนโลยี AI เพื่อกำจัดเหาทะเลโดยไม่เป็นอันตรายต่อปลา ด้วยระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถระบุและติดตามปลาที่มีร่องรอยของเหาทะเลเกาะบนร่างกายได้อย่างแม่นยำ ปลาทุกตัวได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด เพื่อลดความเครียดซึ่งสามารถส่งผลต่อรสชาติได้
ให้ทะเลมีเวลาพัก
ระหว่างการทำฟาร์มแต่ละรอบ จะมีการพักให้ระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่นั้น ๆ ได้ฟื้นฟู และยังติดตามดูสภาพท้องทะเลอย่างใกล้ชิด จำนวนฟาร์มถูกจำกัดอยู่ที่ 750 แห่ง ต่อพื้นที่ชายฝั่งระยะทาง 28,953 กิโลเมตร
บริษัทที่ต้องการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะต้องผ่านขั้นตอนการขอใบอนุญาตที่เข้มงวด ในแต่ละปี ผู้ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาจะต้องจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเงินกว่าหกพันล้านบาท (นอกเหนือจากงบประมาณของรัฐบาล) ในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการประมง
การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพเช่นนี้ ทำให้นอร์เวย์สามารถส่งออกแซลมอนสดจากกระชังในน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิที่กรุงเทพฯ ได้ภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อให้คนไทยได้อิ่มอร่อยไปกับปลาสีส้มยอดนิยมที่ทั้งอร่อยและเต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
ฟาร์มแซลมอน เพื่อการประมงอย่างยั่งยืน
เพื่อตอบรับกับทิศทางของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มองหาอาหารทะเลคุณภาพสูงและใส่ใจกับการทำฟาร์มปลาแบบยั่งยืน ผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ของนอร์เวย์ต่างได้มุ่งมั่นในการสร้างสรรค์โซลูชันเพื่อทำการประมงในพื้นที่ทะเลเปิด โดยพัฒนารูปแบบจากฟาร์มตาข่ายแบบดั้งเดิม เป็นฟาร์มในมหาสมุทร หรือในลักษณะของเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ จากแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากการคำนวณขนาดฟาร์มต่อประสิทธิภาพสูงสุดในการทำฟาร์ม และนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถด้านการประมง จนเกิดเป็นการประมงสมัยใหม่ที่เป็นต้นแบบของประเทศอื่น ๆ กลายเป็นมิติใหม่แห่งการทำฟาร์มแซลมอน
หนึ่งในบริษัททำฟาร์มแซลมอนของนอร์เวย์ได้สร้างฟาร์มในมหาสมุทรขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 4 สนามขึ้นมา ปัจจุบันคือสิ่งก่อสร้างที่ลอยอยู่กลางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ออกแบบมาให้สามารถมีอายุการใช้งานได้ 25 ปี และเป็นบ้านของแซลมอนได้ถึงกว่าสองล้านตัว
ฟาร์มในมหาสมุทรแห่งนี้ใช้เซ็นเซอร์ Internet of Things (IoT) เพื่อตรวจสอบ วิเคราะห์ และให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยนำข้อมูลเหล่านั้นมารันเป็นโมเดลแฝดของเรือแบบดิจิทัลด้วยโซลูชัน บนคลาวด์ วิธีนี้ช่วยให้ผู้ควบคุมฟาร์มสามารถตรวจสอบและบำรุงรักษาพื้นที่สำคัญ ๆ ประเมินโครงสร้างภายใต้สภาพอากาศและทะเลที่ไม่เอื้ออำนวยต่าง ๆ และปรับปรุงการตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที
นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของการที่นอร์เวย์ได้นำเอาความเชี่ยวชาญกว่าศตวรรษ สถิติ ข้อมูลเชิงลึก และเทคโนโลยีล้ำสมัย เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมการประมง เพื่อให้มั่นใจว่าอนาคตที่ยั่งยืนของท้องทะเลจะยังดำรงอยู่ต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
แคมเปญ The Story from the North โดย ญาญ่า อุรัสยา เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนอร์เวย์ ทำให้คนไทยได้เข้าใกล้ชีวิตความเป็นอยู่ วิถีทางทะเล และความเคารพในธรรมชาติของคนนอร์เวย์มากยิ่งขึ้น
Leave feedback about this