สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน
เห็นด้วยกับ Ticy City หรือไม่ว่า หน้าร้อนปีนี้มาเร็วและร้อนกว่าปีที่แล้วซะอีก เรียกได้ว่าเตะ 40 องศาเซลเซียส เกือบทุกวัน เชนิดที่นั่งหรือยืนเฉยๆ เหงื่อก็ท่วมตัวแล้ว ซึ่งจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่ทำให้สภาพภูมิอากาศ แปรปรวนได้ขนาดนี้ล้วนมาจากน้ำมือมนุษย์เรานั่นเอง
และเมื่ออากาศร้อนสิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระวังอย่างมากคือโรคภัยไข้เจ็บซึ่งมากับอากาศร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยTicy City ได้มีโอกาศพูดคุยกับนายแพทย์พงศ์ภากร ศรธนะรัตน์ แพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ซึ่งคุณหมอเทมส์ได้บอกเล่าถึง 5 ภัยร้ายหน้าร้อนที่ต้องระวัง!! ผ่านบทความนี้
แต่ละโรคเรียกได้ว่าเป็นภัยใกล้ตัวและสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งบ้างครั้งก็เกิดขึ้นแบบไม่ทันระวังตัว มาดูกันว่าจะมีโรคไหนบ้าง

นายแพทย์พงศ์ภากร ศรธนะรัตน์ (Phongphakorn Sontanarat,M.D.)
แพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
(Integrative Medicine Arun Health Garden)
ด้วยอุณหภูมิของโลกที่พุ่งสูงขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิภาคพื้นอากาศของโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 3-4 องศาเซลเซียส ซึ่งนั้นส่งผลให้ปัญหาสุขภาพในหน้าร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น และในฐานะหมอผมขอใช้พื้นที่นี้ส่งผ่านความห่วงใยให้ทุกคนระวัง 5 ภัยร้ายหน้าร้อนที่ต้องระวังครับ

โรคอาหารเป็นพิษ
สาเหตุ : เกิดจากรับประทานอาหาร หรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเข้าไป อากาศที่ร้อนจัดนั้นทำให้ เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี อาหารบูดเสียง่าย โดยมักพบในอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารทะเล
อาการ : ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง มักเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารปนเปื้อนภายใน 1-24 ชั่วโมง สำหรับ รายที่เป็นมาก อาจมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะสีเข้มขึ้น มีอาการหน้ามืดคล้ายเป็นลมเวลา ลุกนั่งหรือเปลี่ยนท่า และในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจถึงขั้นตาลาย หรือหมดสติได้

วิธีป้องกัน : เลือกรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด เก็บรักษาอาหารอย่างถูกวิธี
หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารทะเล
ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
เก็บอาหารเหลือในตู้เย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส
ไม่ควรทานอาหารที่ปรุงสุกแล้วทิ้งไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง

โรคอหิวาตกโรค
สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae ที่ปนเปื้อนในน้ำ อาหาร มักพบในชุมชนแออัด สุขอนามัยไม่ดี เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงและสามารถระบาดได้อย่างรวดเร็ว
อาการ: ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำอย่างมาก โดยมักไม่มีอาการปวดท้อง บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำ ซาวข้าว และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน โดยเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารหรือน้ำปนเปื้อน ภายในไม่กี่ชั่วโมงถึง5 วัน ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการขาดนํ้า ขาดเกลือแร่อย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจช็อคและถึงแก่ชีวิตได้

วิธีป้องกัน : ดื่มน้ำสะอาดผ่านการกรอง
ทานอาหารปรุงสุก อาหารที่ปรุงสุกแล้วควรมีฝาชีครอบให้เรียบร้อย
ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
รักษาสุขอนามัย ล้างห้องน้ำ ห้องครัวให้สะอาด

โรคบิด
สาเหตุ: เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Shigella (โรคบิดไม่มีตัว) ในอุจจาระซี่งมักพบในประเทศที่มีสุขอนามัยไม่ดี หรือปรสิตเซลล์เดียวที่มีชื่อว่า Entamoeba histolytica (โรคบิดมีตัว) ซึ่งมักพบในประเทศเขตร้อน
อาการ: ถ่ายเหลวเป็นมูกเลือด ปวดบิดท้อง มีไข้ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารหรือน้ำปนเปื้อน ภายใน 1-3 วัน โดยผู้ที่เป็นโรคบิดมีตัวมักจะมีอาการรุนแรงมากกว่า โดยการรักษานั้นแพทย์จะให้ สารน้ำเกลือเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป รวมถึงการให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อกำจัดสาเหตุ

วิธีป้องกัน: รักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ
ดูแลเด็กเล็กไม่ให้ไปเล่นในบริเวณที่สกปรก
รับประทานกินอาหารปรุงสุก
ดื่มน้ำสะอาด
ล้างผักผลไม้ก่อนรับประทาน

โรคผิวหนัง
สาเหตุ: เกิดจากแสงแดด ฝุ่นควัน เหงื่อ
โรคที่พบบ่อย ผดร้อน – เกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อ
ผิวไหม้ – เกิดจากการสัมผัสแสงแดดจัด
ฝ้า กระ – เกิดจากแสงแดด ร่วมกับฮอร์โมน พันธุกรรม

วิธีป้องกัน : ทาครีมกันแดด SPF 30 ขึ้นไป ทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงเมื่อต้องอยู่กลางแจ้งต่อเนื่อง
สวมเสื้อผ้ามิดชิด สวมหมวก กางร่ม
ควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าโปร่งบางเพื่อช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดี ลดเหงื่อ
อาบน้ำทำความสะอาดผิวหนังเช้า-เย็น และภายหลังการออกกำลังกาย
หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน
ทาครีมบำรุงผิวหลังอาบน้ำ

โรคลมแดด (Heat Stroke)
สาเหตุ: เกิดจากความล้มเหลวในการรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูง ขึ้นกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งหากอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยง : อายุที่น้อยหรือมากเกินไป น้ำหนักกตัวที่มาก ทำงานหรืออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน พักผ่อนไม่ เพียงพอ และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อาการ: อุณหภูมิร่างกายสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส อาจมีอาการสับสน กระวนกระวาย เพ้อ และชัก หรือหมดสติได้ ร่วมกับภาวะหัวใจเต้นเร็ว อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวด ศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน

วิธีป้องกัน : ดื่มน้ำเยอะๆ
สวมเสื้อผ้าสีอ่อน
หลีกเลี่ยงอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน
พักผ่อนให้เพียงพอ
หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน
และทั้งหมดนี่ก็คือ 5 ภัยร้ายหน้าร้อนที่ต้องระวังนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงกรานต์นี้ที่อุณหภูมิในประเทศไทยอาจสูงเกินกว่า 40 องศา อีกทั้งยังเป็นช่วงของการเดินทางและมีงานเทศกาลสงกรานต์ในสถานที่ต่างๆ โอกาสที่เกิดโรคก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและรุนแรงขึ้น ซึ่งหมอหวังว่าเกร็ดความรู้เรื่องโรคที่หมอได้เขียนถึงจะส่งผลให้ได้รู้จักโรคเหล่านี้ รวมถึงวิธีป้องกันและปฏิบัติตัว จะช่วยให้ปลอดภัยจากภัยสุขภาพที่มากับหน้าร้อนนี้นะครับ
#TicyCity #ตีซี้ชิตี้ #เมือง #City #Health #หน้าร้อน #โรค #อาหารเป็นพิษ #อหิวาตกโรค #โรคบิด #โรคผิวหนัง #โรคลมแดด #HeatStroke #สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
Leave feedback about this