ticycity.com Contents Voice Movement ‘Corporate Identity’ กับวิถีแห่ง ‘อัตลักษณ์’ บนป้ายใหม่ของ ‘กรุงเทพมหานคร
Movement Voice

‘Corporate Identity’ กับวิถีแห่ง ‘อัตลักษณ์’ บนป้ายใหม่ของ ‘กรุงเทพมหานคร

เมื่อราคาจ่าย 3 ล้าน อาจจะเป็น ‘งาน’ ที่ ‘ลึกซึ้ง’ มากกว่าที่ตาเห็น …. 

ในชั่วโมงนี้ เชื่อว่าเรื่องที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเป็นอย่างมาก คงหนีไม่พ้น ‘ป้ายกรุงเทพมหานคร’ ที่ติดอยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS แยกปทุมวัน ที่มีสีสันอันแสนฉูดฉาด แตกต่างไปจากป้ายเก่าที่ลบเลือนไปตามกาลเวลา พร้อมคำถามที่ว่า ของใหม่ที่มาทดแทนเหล่านี้ มีความเหมาะสม ลงตัว หรือดูดีมากน้อยเพียงใด 

ไม่นับรวมข่าวคราวที่เล่าลือกันถึงค่าใช้จ่าย ที่คิดเป็นงบประมาณมากถึง ‘3 ล้านบาท’ ที่ยิ่งก่อให้เกิดคำถามถึงความคุ้มค่าในการรังสรรค์ ‘ป้ายใหม่’ ในครั้งนี้ 

ทั้งนี้ ถ้าเรามองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ทางกรุงเทพมหานครมุ่งหมายจะให้บรรลุในวัตถุประสงค์ และความพยายามที่จะสร้าง ‘ตัวตน’ ผ่านกระบวนการ Corporate Identity (CI) แล้วนั้น จะพบว่า มันมีสิ่งที่น่าสนใจชวนให้คิดขบต่อไปอย่างยิ่ง 

ในส่วนนี้ เราอาจจะต้องกล่าวกันถึงลักษณะของ ‘ตัวอักษร’ ที่ถูกใช้ในป้ายใหม่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่ง นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยว่า เป็นฟอนต์พิเศษที่ชื่อว่า ‘เสาชิงช้า’ ที่จัดทำขึ้นภายใต้ CI ของกรุงเทพมหานคร ต้นแบบมาจากตัวอักษรไทยนริศที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ที่มีมาแต่ตั้งต้นดั้งเดิม คือภาพสัญลักษณ์ของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ที่อาศัยภาพวาดของกรมพระยานริศรานิวัดติวงศ์เป็นต้นแบบ 

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับฟอนต์เสาชิงช้านี้คือ ทางกรุงเทพมหานคร ได้มีการนำเอาฟอนต์ดังกล่าว มาปรับใช้ในสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ มานับตั้งแต่ปลายปี 2566 รวมถึงการใช้พื้นหลังสีเขียวมรกต เป็นไปตามรูปแบบคู่มือการใช้อัตลักษณ์ที่มีการกำหนดเอาไว้อย่างแม่นยำ ปรับเข้ากับบริบทของแต่ละชิ้นงาน ผ่านสื่อชนิดต่างๆ ที่พบเห็นได้แม้ในปัจจุบัน 

(ผู้สนใจฟอนต์เสาชิงช้า สามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี ที่ www.pr-bangkok.com [เข้าลิงค์แล้วเลือก ‘ดาวน์โหลด’ และเลือกที่ ‘ฟอนต์ Sao Chingcha’])

จากที่กล่าวไปข้างต้นเกี่ยวกับการออกแบบ การใช้งาน และการกำหนดอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกันนั้น กำลังบ่งบอกถึงสิ่งใด 

เราอาจจะต้องทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่า Corporate Identity ในเชิงลึกให้ชัดเจน เพราะมันไม่ได้เป็นเพียงแค่การออกแบบฟอนต์หรือโลโก้ แต่เป็นการกำหนด ‘ทิศทาง’ ที่องค์กรจะสื่อสารตัวตนออกมา ไม่ได้เพียงแค่ครั้งเดียว แต่ยาวนานไปอีกในระยะเวลา 3  ปี 5 ปี หรือ 10 ปีเป็นอย่างน้อย 

การคิดคำนวณและออกแบบมาอย่างไตร่ตรอง จนได้ข้อสรุปเป็นผลสำเร็จในตอนท้าย คือ ‘ไบเบิ้ลทางการออกแบบ’ ที่ทางกรุงเทพมหานครในฐานะ ‘องค์กร’ จะยึดถือเอาไว้อย่างมั่นคง ที่ซึ่งการออกแบบอื่นใดในอนาคต ไม่ว่าจะมาจากบริษัทออกแบบ หรือนักออกแบบคนใด ก็จะต้องดำเนินการตาม CI หรืออัตลักษณ์องค์กรนี้ อย่างไม่อาจบิดพลิ้วไปได้ 

เพราะมันคือการสื่อสารถึงสิ่งที่องค์กรต้องการจะไป และเป้าหมายที่องค์กรต้องการจะ ‘เป็น’ 

แน่นอนว่า การออกแบบ CI หนึ่ง อาจจะไม่ได้ถูกใจคนทุกคน เป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ และการถกเถียงเรื่องสไตล์ ความชื่นชอบ หรือรูปแบบ เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สามารถพึงกระทำ แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และเป็นความท้าทายที่กำลังรอคอยทางกรุงเทพมหานครอยู่ในเวลาข้างหน้านั้นคือ ….. 

ผลลัพธ์จากการออกแบบ CI ในเวลานี้ จะสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ รวมถึงหน้าตาของกรุงเทพมหานครแบบใดในอนาคตอีกห้าหรือสิบปีให้หลัง?

ความคุ้มค่าของ Corporate Identity จะถูกชี้วัดจากผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องมาร่วมลุ้น และติดตามรอชมกันต่อไป ซึ่งนั่น น่าจะให้คำตอบที่เหมาะสมที่สุดว่า การจ่ายเงิน 3 ล้านบาทในครั้งนี้ มันคุ้มค่าหรือไม่ กับ ‘ตัวตนใหม่’ ที่กรุงเทพมหานครได้มา …. 

Exit mobile version