ticycity.com Contents Trends Health หยุดชอปปิงไม่ได้ !!
Health Trends

หยุดชอปปิงไม่ได้ !!

young woman wearing colorful cloth in modern style holding colorful shopping bags jumping with big smile and funny background poster wallpaper. AI Generative

สัญญาณอันตรายของโรคเสพติดการชอปปิง หรือ Shopaholic

สุขภาพจิต

เมื่อการชอปปิงเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสหน้าจอมือถือหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็สามารถซื้อของที่ต้องการได้แล้ว 

และจากความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นผนวกกับโปรโมชันที่ดึงดูดใจจากหลากหลายแอพ นั้นจึงเป็นเหตุผลที่เป็นคำตอบว่าทำไมปัจจุบันผู้คนจึงหันมาชอปปิงออนไลน์กันมากขึ้น และบางคนถึงขั้นเสพติดการชอปปิง ออนไลน์กันเลยทีเดียว 

ซึ่งนั้นทำให้ Ticy City เกิดความสนใจและสงสัยว่าถ้าเกิดเสพติดการชอปปิงออนไลน์ขึ้นขึ้นหยุดไม่ได้นี่ จะอยู่ในข่ายของการป่วยด้วยหรือเปล่า จนในที่สุดก็ได้ไปพบบทความ เรื่อง หยุดชอปปิงไม่ได้ สัญญาณอันตรายของโรคเสพติดการชอปปิง ของแพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์ โรพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital ซึ่งน่าสนใจมากๆ เลยขอนำมาแบ่งปันให้ได้อ่านกัน แล้วลองเช็คดูว่าแค่อยากซื้อของหรือว่าป่วยเป็นโรค  Shopaholic กันแน่

ทำความรู้จักกับโรค “Shopaholic”

การชอปปิงในออนไลน์ หรือออฟไลน์ถือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของใครหลายคนแต่ถ้าชอปจนหยุดตัวเองไม่ได้ ซื้อของเกินความจำเป็น จนเกิดปัญหาหนี้สิน กระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเข้าข่ายเป็น Shopaholic หรือ โรคเสพติดการชอปปิงโดยไม่รู้ตัว 

ทั้งนี้ แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์ โรพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital ได้กล่าวว่า Shopaholic หรือ โรคเสพติดการชอปปิง เป็นโรคทางสุขภาพจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้จะเสพติดการซื้อของโดยที่ไม่คำนึงถึงสถานะทางการเงินของตัวเอง และมีความอยากจะไปชอปปิงอยู่ตลอดเวลา โดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จนทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความสัมพันธ์จนต้องทะเลาะกับคนในครอบครัว บางครั้งซื้อมาแล้วต้องโกหกคนในครอบครัวว่ามีคนให้มา หรือบอกราคาที่ถูกกว่าราคาจริงที่ซื้อ ซึ่งโรคนี้พบได้ตั้งแต่วัยรุ่นขึ้นไปทั้งเพศหญิงและเพศชาย

9 พฤติกรรมที่เข้าข่ายการเป็น Shopaholic

  • อยากซื้อของตลอดเวลา
  • ซื้อของเกินความจำเป็น
  • ยับยั้งพฤติกรรมการชอปปิงของตัวเองไม่ได้
  • มีความรู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ โดยจะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ
  • รู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว
  • ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้
  • ซื้อซ้ำๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วหลายชิ้น
  • ต้องหลบซ่อนหรือโกหกปกปิดเวลาซื้อของนั้นๆ
  • มีปัญหาด้านอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น เกิดปัญหาหนี้สิน ปัญหาความสัมพันธ์ เป็นต้น

ปัจจัยของการเกิดโรค 

โรคเสพติดการชอปปิง เกิดได้ทั้งปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยทางสังคม ซึ่งสาเหตุที่มาจากปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ มีภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง มีปัญหาในการควบคุมตัวเองหรือยับยั้งชั่งใจ 

ส่วนปัจจัยทางสังคม เช่น การซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ รวมไปถึงการใช้บัตรเครดิตในการซื้อของไปก่อนโดยยังไม่ต้องใช้เงินสด สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเสพติดชอปปิงได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน 

การรักษาและป้องกัน

โรคเสพติดการชอปปิง สามารถรักษาให้หายได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเปลี่ยนทัศนคติ เช่น การจำกัดวงเงินบัตรเครดิตหรืองดใช้บัตรเครดิต โดยส่วนใหญ่แล้วจิตแพทย์จะรักษาด้วยการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) ซึ่งจะเป็นการพูดคุยให้คำปรึกษา เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการมีพฤติกรรมโรคเสพติดการชอปปิง จากนั้นจึงทำการปรับเปลี่ยนความคิด ปรับพฤติกรรม เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจตัวเองและปรับเปลี่ยนนิสัยการเสพติดการชอปปิงได้ เช่น หากใช้การชอปปิงเป็นการระบายความเครียด ก็อาจจะหาวิธีระบายความเครียดวิธีอื่นๆ ที่ไม่ส่งผลเสียต่อตัวเอง หรือถ้ามีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ก็ต้องรักษาควบคู่กันไป

สำหรับการป้องกันโรคเสพติดการชอปปิง ต้องเริ่มจากการวางแผนการใช้จ่าย จดบันทึกรายรับรายจ่าย หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเกินตัว, หากิจกรรมอื่นๆ ทำยามว่าง แทนการชอปปิง เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ออกไปสังสรรค์กับเพื่อน, ฝึกฝนการควบคุมตัวเอง และหลีกเลี่ยงสื่อโฆษณาหรือการตลาดที่กระตุ้นให้ซื้อของ

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคเสพติดการชอปปิงควรเข้ามาปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

#TicyCity #ตีซี้ชิตี้ #เมือง #City #Health #Shopaholic #ชอปปิง #สุขภาพจิต #จิตแพทย์ #BMHH #BangkokMentalHealthHospital

Exit mobile version